ญี่ปุ่นกลับมาเปิดดำเนินการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้งในวันนี้ (29 ต.ค.) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้นับตั้งแต่ประสบเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์เมื่อปี 2554
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์โอนากาวะ หมายเลข 2 (Onagawa No.2) ในจังหวัดมิยางิ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทโทโฮคุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tohoku Electric Power Co.) กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกเช่นกันที่เครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactor) กลับมาเดินเครื่องนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่เมื่อ 13 ปีก่อน ทั้งนี้ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเดือดเป็นเครื่องปฏิกรณ์ประเภทเดียวกับที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งประสบเหตุแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายในช่วงที่เกิดวิกฤตนิวเคลียร์
รายงานระบุว่า ในเดือนก.พ. 2563 เครื่องปฏิกรณ์โอนากาวะผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยภายใต้มาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ฟุกุชิมะ และได้รับการอนุมัติจากท้องถิ่นให้กลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่หยุดไป บริษัทโทโฮคุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ ได้ดำเนินการยกระดับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการสร้างกำแพงกั้นน้ำสูง 29 เมตร และปรับปรุงความต้านทานแผ่นดินไหวของตัวอาคาร
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมี.ค. 2554 เครื่องปฏิกรณ์ทั้งสามเครื่องที่โรงไฟฟ้าโอนากาวะได้หยุดทำงานโดยอัตโนมัติระหว่างเกิดภัยพิบัติ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดมากที่สุด และถูกคลื่นสึนามิสูงประมาณ 13 เมตรซัดเข้าใส่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 67)
Tags: ญี่ปุ่น, เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์, แผ่นดินไหว