AGE ยกชั้นขึ้นโฮลดิ้งปรับทิศสู่ Sustainable ต่อยอดธุรกิจกรีน แต่งตัว “เอจีอี เทอร์มินัล” ส่งเข้า SET ปี 69

นายพนม ควรสถาพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) กล่าวว่า บริษัทเตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหญ่สู่การเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อต่อยอดธุรกิจพลังงานยั่งยืน (Sustainable Energy) ด้วยการจัดกลุ่มเป็น 4 ธุรกิจหลักใน AGE Group คือ ธุรกิจถ่านหิน, ธุรกิจสมาร์ทโลจิสติกส์ , ธุรกิจพลังงานสะอาด และ ธุรกิจการลงทุนใหม่

ล่าสุด ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติให้ AGE เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน บมจ.เอเชีย ไบโอแมส (ABM) จำนวน 292,107,010 หุ้น ราคาหุ้นละ 1.30 บาท ด้วยการแลกหุ้น (Share Swap) กับหุ้นที่ถืออยู่ใน บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) จำนวน 81,860,400 หุ้น หรือคิดเป็น 24% และหุ้นในบริษัท กรีน อาร์ดีเอฟ จำกัด (GRDF) จำนวน 335,497 หุ้น หรือคิดเป็น 100% แทนการชำระด้วยเงินสด คาดว่ารายการทำ Share Swap และการทำ Tender Offer จะแล้วเสร็จภายในปลายไตรมาส 4/67

พร้อมทั้งทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป (Tender Offer) เพื่อให้ ABM เป็น flagship ทางด้านพลังงานยั่งยืนของกลุ่ม AGE โดยไม่มีแผนจะเพิกถอน ABM ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ยังอนุมัติเข้าซื้อหุ้น บริษัท ทุนทำดี จำกัด จำนวน 17,997 หุ้น หรือคิดเป็น 44.99% ที่ราคา 62,230,500 บาท โดย บริษัท เอจีอี เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ AGE จะเข้าถือหุ้น 100% โดยซื้อหุ้นดังกล่าวจาก บริษัท แอลฟ่า จี เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ABM

นางสาวปณิตา ควรสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ AGE กล่าวว่า แผนเข้าซื้อกิจการของ AGE ในครั้งนี้เป็นการต่อยอดธุรกิจพลังงานยั่งยืน โดย ABM ถือเป็นผู้นำในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวล และบริษัทมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจทาง AGE จะเป็นผู้ถือหุ้นใน ABM เป็น 51-70% และถือหุ้นใน ทุนทำดี 100% ขณะที่ ABM จะเป็นผู้ถือหุ้นใน QTC ที่ 24% และ GRDF ที่ 100%

ปัจจุบัน รายได้หลักของ AGE ยังมาจากธุรกิจถ่านหิน 95% แต่หลังจากการเข้าทำรายการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน ABM สัดส่วนรายได้จากถ่านหินจะลดลง จากการรับรู้รายได้ของ ABM และบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่มีความยั่งยืนจากการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโลจิสติกส์ จากกลุ่มลูกค้าภายนอกทั้งจากกลุ่มสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเป็น 50% จากปัจจุบันที่ 35%

ขณะที่ธุรกิจพลังงานยั่งยืน (Sustainable Energy) ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายเชื้อเพลิง RDF จากขยะภายใต้บริษัทย่อย GRDF อย่างต่อเนื่อง และธุรกิจ Human Solutions (Diversified Investments) ภายใต้บริษัทย่อย เอจีอี เวนเจอร์ (AGEVT) ซึ่งได้จัดตั้งบริษัท เอจีอี อีวี พลัส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการปล่อยเช่ารถ EV ให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4/67 และเจรจาความร่วมมือกับ Avis เพื่อนำรถไปให้บริการ EV Taxi ผ่านแพลตฟอร์มของ Grab รับส่งผู้โดยสารในสนามบินคาดว่าจะเติมรถเข้าสู่ระบบราว 100 คันในสิ้นปีนี้

และ บริษัท เอจีอี ออโต้ แกลลอรี่ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจดีลเลอร์ขายรถไฟฟ้า EV ในปัจจุบัน กำลังก่อสร้างโชว์รูม สองแห่ง คือ OMODA & JAECOO สาขารามคำแหง และ Neta สาขาพระราม 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/67 และไตรมาส 2/68 ตามลำดับ และเริ่มรับรู้รายได้จากการขายรถ EV ในไตรมาส 4/67 ขณะที่มีแผนเข้าซื้อโชว์รูมมิตซูบิชิเพิ่มอีก 1 แห่ง และอยู่ระหว่างเจรจาเป็นตัวแทนขายรถ EV จากจีนเพิ่มอีก 1 แบรนด์ภายในสิ้นปีนี้ โดยวางเป้าหมายยอดขายรถในปี 68 เติบโตแตะ 1.65 พันล้านบาท และในธุรกิจนี้คาดว่าจะคืนทุนภายใน 3 ปี

“เราเลือกเกิดไม่ได้ เพราะเราเกิดมาจากเหมืองถ่านหิน แต่เราเลือกเส้นทางเดินได้ จากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นของบริษัทสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืน และตั้งเป้าว่าในปี 73 บริษัทจะมีสัดส่วน EBITDA มาจากธุรกิจยั่งยืน 50% ธุรกิจถ่านหิน 50%”นางสาวปณิตา กล่าว

นายพนม กล่าวอีกว่า หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มแล้ว AGE จะพิจารณาศักยภาพของแต่ละบริษัท เพื่อวางแผนขยายธุรกิจในอนาคต เบื้องต้นมีแผนนำบริษัท เอจีอี เทอร์มินัล จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในปี 69 โดยแต่งตั้ง บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อนำเงินมาใช้ขยายธุรกิจด้านการขนส่งและโลจิสติกส์

เอจีอี เทอร์มินัล มีท่าเรือ 2 แห่งในอยุธยา มีคลังสินค้า และบริการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก ซึ่งบริษัทมองโอกาสขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทบนที่ดิน 300 ไร่ในอยุธยาที่สามารถขยายพื้นที่โดยรอบเพิ่มได้อีก โดยมองแนวทางการตั้งโรงงานเชื้อเพลิงชีวมวลของ ABM และโรงงานผลิตเชื้อเพลิง RDF จากขยะเพิ่มเติม รวมทั้งขยายบริการโลจิสติกส์ให้กับธุรกิจนอกกลุ่มที่ยังมีดีมานด์อีกมาก

สำหรับทิศทางผลประกอบการของ AGE เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกถ่านหิน แม้ว่าจากต้นปีจนถึงปัจจุบันจะยังมีผลขาดทุนราว 300 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 3/67 กลับมาเห็นกำไรแล้ว และไตรมาส 4/67 จะมีกำไรอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่พลิกกลับสู่กำไรเป็นปกติปี 68 ในระดับ 250-300 ล้านบาท จากนั้นในปี 69 คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยบริษัทมีเป้าหมายจะผลักดันมาร์เก็ตแคปขึ้นไปสู่ระดับ 3 พันล้านบาท หากสามารถทำกำไรได้ในระดับ 400 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top