นายชิบ จิตนิยม สว.สายสื่อมวลชน ได้ตั้งกระทู้ถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่าย ดิไอคอน กรุ๊ป โดยหวั่นว่าการส่งคดีให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะเกรงว่าหากดำเนินการไม่เสร็จทันตามกรอบเวลา อาจจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาจากการคุมขัง ทำให้ผู้ต้องหารอดคดี
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้ทราบล่าสุดว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะโอนคดีหลักเข้าสู่ดีเอสไอ เป็นคดีพิเศษ เพราะเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ส่วนเรื่องการอายัดทรัพย์สิน การดำเนินการต่าง ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน และการเยียวยา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป
นายประเสริฐ ย้ำว่า รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชนผ่านธุรกิจขายตรง โดยมีกฎหมายมาดำเนินการ ได้แก่ 1.พ.ร.บ. การขายตรง ซึ่งในกรณีของดิไอคอน เป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่ตรงตามที่จดทะเบียนไว้ 2.พ.ร.บ.การกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และหลอกลวงประชาชน โดยชักชวนให้มีการสมัครสมาชิกในธุรกิจขายตรง และนำเงินมาลงทุน และ 3.พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ขณะที่การใช้สื่อออนไลน์ในการโฆษณา มีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง และกำกับดูแลอยู่ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส กรณีหากเกิดเหตุการณ์ผิดสังเกตหรือสงสัย, สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีการกำหนดมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย, กระทรวงสาธารณสุข ดูแลในเรื่องมาตรฐานสินค้าว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่, กระทรวงการคลัง เข้าไปตรวจสอบในเรื่องของการกำหนดมาตรฐาน และป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจที่เรียกว่า “แชร์ลูกโซ่” ส่วนกรณีของดารา หรืออินฟลูเอนเซอร์ ต่างๆ สมาคมโฆษณา และผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิง รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการจัดการโฆษณาและตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด
ส่วนภารกิจของ กสทช. เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุก และเป็นการตรวจสอบการกำกับในการออกอากาศ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลและข่าวสารที่มีความถูกต้อง ทั้งรายการวิทยุ หรือรายการโทรทัศน์ และแจ้งแนวทางในการปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ เพื่อให้เกิดความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำเสนอเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงในเรื่องของการผิดกฎหมาย และป้องกันการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน
นอกจากนั้น กสทช. ยังได้ทำงานร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดต่างๆ ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้มีการเฝ้าระวังเรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดทางด้านคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 14 (1) ได้กำหนดลักษณะความผิดที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ไว้ และได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด
“วันนี้ข้อมูลที่ทราบ มีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง 693 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจแบบตรง 935 ราย และรัฐบาลได้มีการดำเนินการในการควบคุมเรื่องการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง เสนอให้มีการกำหนดมาตรการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสร้างมาตรฐานในการโฆษณา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค” นายประเสริฐกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 67)
Tags: DSI, Theicon, ชิบ จิตนิยม, ดิไอคอน, ดิไอคอนกรุ๊ป, ประเสริฐ จันทรรวงทอง, แพทองธาร ชินวัตร