ไทยเตรียมพร้อมเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค โดยมีบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการภารกิจ ด้วยการลงทุนเพิ่มเติมในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1.7 แสนล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคน/ปี และเดินหน้าขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 ด้วยงบ 3.6 หมื่นล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารเป็น 50 ล้านคน/ปี ทำให้กรุงเทพจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคน/ปี ภายในปี 2575
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า การที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค AOT มุ่งเน้นให้ผู้โดยสารมาเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเดินทางตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง AOT ได้สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) และรันเวย์ที่ 3 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้มีความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 65 ล้านคน/ปี
ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารรวมทั้ง 6 สนามบิน ยังเติบโตต่อนข้างแข็งแกร่ง โดยในงวดปี 67 (ต.ค.66- ก.ย.67) AOT มีจำนวนผู้โดยสาร 120 ล้านคนตามเป้าหมาย ขณะที่ปริมาณขนส่งทางอากาศ (Cargo) แตะที่ 1.4 ล้านตัน ติด 1 ใน 10 ของแอร์คาร์โก้ขนาดใหญ่ และคาดว่าปี 68 จะมีจำนวนผู้โดยสารรวม 130 ล้านคน และปี 69 คาดไว้ที่ 140 ล้านคน เท่ากับปี 62 จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร
ทุ่มงบลงทุน “สุวรรณภูมิ” ครั้งใหญ่ 1.7 แสนล้าน ขยายฝั่งตะวันออก-ผุดอาคารทิศใต้-สร้างรันเวย์ที่ 4
จากนโยบายที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค AOT จึงเตรียมลงทุนเพิ่มเติมในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1.7 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคน/ปี ดังนี้
- อาคารส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออก (East Expansion) ใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาทซึ่งได้รับอนุมัติงบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้ว และจะนำเสนอรายละเอียดต่าง ๆ ต่อครม.อีกครั้งภายในเดือนธ.ค.นี้ และคาดจะเปิดประมูลงานก่อสร้างได้ในเดือนม.ค.68 ใช้เวลาก่อสร้าง3 ปี คาดปลายปี 70 จะเปิดบริการได้ โดยจะเพิ่มขึดความสามารถรองรับผู้โดยสารอีก 15 ล้านคน จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 80 ล้านคน/ปี
- งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) มูลค่าเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ โดยเป็นอาคารขนาดใหญ่ พื้นที่ 5 แสนตร.ม.ซึ่งเป็นอาคารที่เคยอยู่ในแผนแม่บทเดิมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ใกล้เคียงกับ Main Terminal ในปัจจุบัน
ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 68 จากนั้นเข้าสู่การอออกแบบรายละเอียด และคาดว่าต้นปี 70 จะเปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างได้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 74-75 สามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 70 ล้านคน/ปี
หากดำเนินการทั้ง 2 ส่วนเรียบร้อยแล้ว จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคน/ปี
- งานก่อสร้างรันเวย์ที่ 4 ด้วยงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมี 3 รันเวย์ รองรับได้ 90-100 ล้านคน/ปี เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังทบทวนภาพรวมแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งส่วนต่อขยายอาคารฝั่งตะวันตก (West Expansion) และส่วนต่อขยายอาคารฝั่งทิศเหนือ (North Expansion) ว่าหลังจากมี South Terminal แล้วอาคาร North Expansion กับ West Expansion ยังจำเป็นหรือไม่ จะ Over Capacity หรือไม่
ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนนั้น อาจจะมีความเหมาะสมกับดำเนินธุรกิจอย่างอื่น อาทิ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งหลายสายการบินมองว่าไทยควรเป็นศูนย์กลางการซ่อมเครื่องบิน หรือว่าจะเป็นการขยายพื้นที่รองรับ Cargo ซึ่งที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตปีละ 4-5% มาตลอดซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะขยายคาร์โก้
ดอนเมืองเตรียมขยายรับผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี
นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง AOT ได้รับงบประมาณลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาทจากครม.แล้ว โดยจะเป็นงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ที่จะเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ พื้นที่ 2 แสนตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน/ปี และปรับปรุงอาคาร 1 และ 2 เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ มีพื้นที่มากขึ้นเป็น 3 แสนตร.ม.ซึ่งรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน/ปี รวมทั้งหมดรองรับได้ 50 ล้านคน/ปี
ทั้งนี้ AOT คาดว่ากลางปี 68 จะประมูลหาผู้รับเหมา และใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยอาคารหลังที่ 3 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีจะเสร็จในปี 71 และอีก 2 ปี อาคาร 1-2 ที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมเปิดใช้ในปี 73 โดยวางอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เป็นอาคารระหว่างประเทศ และอาคาร 1-2 เป็นอาคารในประเทศ
ดังนั้นกรุงเทพ จะมี 2 ท่าอากาศยานที่จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคน/ปี รองรับเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค เพราะไทยมีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญของประเทศ โดยท่าอากาศยานดอนเมือง จะเน้นการให้บริการแบบ Point to Point ทั้งเทียวบินในประเทศและต่างประเทศ ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเน้นการบินแบบ Network รองรับการเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Connecting Flight)
ขยายสนามบินภูมิภาค ตามสนามบินหลัก
นายกีรติ ยังกล่าวว่า AOT กำลังเพิ่มขีดความสามารถทั้งท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ตให้เต็มเสียก่อน โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่จะสร้างอาคารผู้โดยสาระหว่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถให้เต็มเป็น 18 ล้านคน/ปี
ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต จะขยายอาคารผู้โยสารระหว่างประเทศอีก 6 ล้านคน/ปี จากเดิมมี 6 ล้านคน/ปี จะเพิ่มเป็น 12 ล้านคน/ปี และเมื่อรวมกับอาคารผู้โดยสารในประเทศที่รองรับ 6 ล้านคน/ปี รวมเป็น 18 ล้านคน/ปี
อย่างไรก็ดี ทั้งท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ตไม่สามารถขยายไปมากกว่านี้แล้ว เพราะมีเพียง 1 รันเวย์
“ทั้งท่าอากาศยานภูเก็ตและเชียงใหม่ มี 1 รันเวย์ฉะนั้นมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะมีข้อจำกัดเรื่องรันเวย์ หลังจากนี้ เรามองว่าต้องเปิดตลาดใหม่ เพราะมองว่าต่อให้รองรับได้ 18 ล้านคน ภูเก็ตก็ยังแน่น ซึ่งไม่ใช่แค่ภูเก็ตแต่เป็นภูเก็ต พังงา กระบี่”
นายกีรติ กล่าวว่า เห็นแนวโน้มผู้โดยสารทั้งภูเก็ตและเชียงใหม่จะเติบโตมากขึ้น ดังนั้น AOT พร้อมจะลงทุนท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานอันดามัน (ภูเก็ต 2) รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคน/ปี งบลงทุน 8 หมื่นล้านบาท และท่าอากาศยานล้านนา (เชียงใหม่ 2) รองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคน/ปี งบลงทุน 8 หมื่นล้านบาทเช่นกัน โดยคาดว่าต้นปี 71 จะเริ่มก่อสร้างได้ ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และจะแล้วเสร็จในปี 75 ดังนั้น ทั้งสองท่าอากาศยานจะเป็นแหล่งรายได้แหล่งใหม่ของ AOT
นอกจากนี้ AOT เตรียมรับโอนการบริหารสนามบินจากกรมท่าอากาศยานไทย 3 แห่งคือกระบี่ บุรีรัมย์ อุดรธานี โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม และปรับปรุงตัวท่าอากาศยาน เพื่อให้ได้ใบอนุญาตสนามบินสาธารณะ ถ้ากระบวนนี้เสร็จ AOT จะรับช่วงต่อบริหารสนามบินและยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 68 และหากอนาคตถ้ามีสนามบินอื่นที่มีศักยภาพมากขึ้น AOT ก็พร้อมที่จะเข้ามาเป็นผู้ลงทุน เพื่อลดภาระการลงทุนของประเทศและเปิดประตูใหม่ ๆ
1 พ.ย.เริ่มใช้ระบบ Biometic ยกระดับการบริการ
นายกีรติ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เที่ยวบินในประเทศ AOT จะให้บริการระบบ Biometric สแกนใบหน้าแทนการใช้เอกสาร จะทำให้กระบวนการทั้งขาเข้าและขาออกลดเวลาไป ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นไม่ต้องกังวลเอกสารเดินทางแต่อย่างใด ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศจะเริ่มใช้ไม่เกินสิ้นปี 67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 67)
Tags: AOT, INTERVIEW, SCOOP, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานไทย, หุ้นไทย