ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟฯ (บอร์ดรฟท.) วันที่ 24 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาการประกวดราคา โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย และสั่งกิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง วงเงิน 28,679,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางกำหนดไว้
สำหรับผลการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามที่ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ได้นำผลการพิจารณาการประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้อง ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา มารายงานต่อคณะกรรมการรถไฟฯ โดยมี กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย 1.บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 2.บริษัท เอ. เอส. แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด 3.บริษัท ทิพากร จำกัด และ 4.บริษัท เค เอส ร่วมค้า จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อไป การรถไฟฯ จะดำเนินการตรวจเอกสาร เมื่อครบถ้วนแล้วจะทำการลงนามในสัญญาจ้างร่วมกับกิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง เพื่อดำเนินการก่อสร้างในโครงการทันที ทั้งนี้ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2567
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. ราคากลาง 28,719,940,000.00 บาท การรถไฟฯ ออกประกาศเชิญชวน และจำหน่ายเอกสารประกวดราคาจ้างในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสารจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
1. บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (CK)
2. บมจ. ช.การช่าง (CK)
3. บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)
4. กิจการร่วมค้า ช.ทวี – เอเอสก่อสร้าง
โดยกิจการร่วมค้า ช.ทวี – เอเอสก่อสร้าง เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด โดยเสนอราคาที่ 28,680 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว) ต่ำกว่าราคากลาง 39.940 ล้านบาท (0.14%) และต่ำกว่าวงเงินงบ ประมาณ 79 ล้านบาท (0.27%) และมีการเจรจาปรับลดราคาเหลือที่ 28,679 ล้านบาท หรือลดลง 1 ล้านบาท
นายวีริศ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อการเดินทางจากช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ผ่านจังหวัดอุดรธานี และสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงานที่ 1 การพัฒนาโครงข่ายระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่) ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566
ขณะที่รูปแบบโครงการเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม และมีการก่อสร้างปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน รวมระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร ประกอบด้วย อาคารสถานี 14 สถานี ที่หยุดรถ 4 แห่ง ลานบรรทุกสินค้า 3 แห่ง พร้อมทั้งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2570
“เส้นทางนี้จะช่วยเติมเต็มระบบรถไฟทางคู่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร การประหยัดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติกส์ ลดระยะเวลาการเดินทาง พลังงานเชื้อเพลิง และปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ถือเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 67)
Tags: CHO, รถไฟทางคู่, วีริศ อัมระปาล