พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า DSI ได้รับคดี “ดิไอคอน” เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากได้พิจารณาจากพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่ากลุ่มผู้บริหารบริษัทฯ มีพฤติการณ์ โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน อันเป็นความผิดตามบัญชีท้ายพ.ร.บ.การสบอสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยพบว่า
1.มีการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน
2.มีทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกิน 300 ล้านบาท จากพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้บริหารบริษัทฯ มีพฤติการณ์โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงินอันเป็นความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศ กคพ.ที่กำหนดให้อธิบดี DSI รับเรื่องไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ
“เรารับเป็นคดีพิเศษเฉพาะความผิดอาญาฐานฟอกเงินเท่านั้น ความผิดอื่นยังอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากความผิดอาญาฐานฟอกเงินถือว่าเป็นกรณีที่ต่างกรรมหรือคนละกรรมกับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว
ทั้งนี้ DSI จะดำเนินคดีกับผู้ที่โอน หรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือมีการได้มา หรือครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ทรัพย์นั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด โดย DSI จะส่งมอบทรัพย์สินที่ตรวจยึดและอายัดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตามขั้นตอน ประกอบด้วย
1.ที่ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 3 ไร่เศษ ราคาประเมินมูลค่าประมาณ 60 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ดินและอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทฯ จำนวน 8 แปลง เนื้อที่รวม 240 ตารางวา ในพื้นที่เขตบางเขน และที่ดินที่เป็นชื่อของนายวรัตน์พลฯ จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 282.20 ตารางวา ในพื้นที่เขตบางเขน บึงกุ่ม บางกะปิ ลาดพร้าว
2.ที่ดินในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 63 ไร่เศษ ราคาซื้อขายประมาณ 300 ล้านบาท
3.ทรัพย์สินที่ได้จากการที่คณะพนักงานสืบสวนได้ทำการตรวจค้นเป้าหมายห้องเช่าบริเวณถนนรามอินทรา ซอย 9 จากการตรวจค้นพบสิ่งของทรัพย์สิน
จากข้อมูลการสืบสวนทราบว่า กลุ่มผู้บริหารบริษัทฯ บางคนได้นำมาเก็บซุกซ่อนไว้เพื่อไม่ให้ตรวจสอบ พบก่อนที่ศาลอาญาจะอนุมัติหมายจับ เช่น นาฬิกามีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง สร้อยที่มีลักษณะเป็นสีทอง พระเครื่องเลี่ยมสีทอง กระเป๋ามีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง และพยานหลักฐานอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือไม่
นอกจากนี้ DSI จะสอบสวนทรัพย์สินที่ตำรวจตรวจยึดอายัดไว้ว่าเข้าข่ายความผิดฟอกเงินหรือไม่ โดยจะตรวจสอบผู้ที่มีเส้นทางธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับกับ 18 ผู้บริหารบริษัทฯ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และหากตรวจสอบพบหลักฐานก็จะมีความผิดฐานฟอกเงินเพิ่มเติมด้วย รวมไปถึงบุคคลอื่นที่อยู่ในเครือข่ายลำดับถัดออกไป
“หากเข้าข่ายเป็นคดีแชร์ลูกโซ่ ก็เชื่อว่า DSI ต้องรับโอนคดีมาทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว
ส่วนกรณีนาฬิกาแบรนด์แนมนั้นต้องยึดมาตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นของแท้หรือไม่ หากเป็นของแท้ก็จะมีมูลค่าสูง แต่หากเป็นของปลอมก็มีข้อชวนคิดว่าทำไมต้องเก็บของปลอม หรือเอาไว้ใช้สร้างภาพความสำเร็จของธุรกิจให้ประชาชนหลงเชื่อ หรือเก็บไว้แจกให้ใคร
ด้านนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และโฆษกปปง. กล่าวว่า ปปง.ไม่สามารถการดำเนินเกี่ยวกับคดีอาญาได้โดยลำพัง การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นจึงมีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยเติมเต็มข้อจำกัดของ ปปง. ไม่ได้เป็นการซ้ำซ้อน
ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดี DSI กล่าวว่า การเข้าไปตรวจค้นห้องเช่าย่านรามอินทรามาจากการแจ้งเบาะแสของพลเมืองดี หากไม่เข้าไปตรวจสอบก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดมาซุกซ่อนไว้ และให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่เสียหาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 67)
Tags: DSI, Theicon, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ฉ้อโกง, ดิไอคอน, ฟอกเงิน, ยุทธนา แพรดำ, วิทยา นีติธรรม, วิษณุ ฉิมตระกูล