นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธฺองค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทต่อยอดธุรกิจและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านบริษัท เทด้า จำกัด ในกลุ่ม SAMART ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) และ Green Tech Ecosystem อาทิ โซลาร์รูฟท็อป คาร์บอนเครดิต เป็นต้น โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน (JV) ราว 4-5 บริษัท คาดว่าจะชัดเจนต้นปี 68
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายธุรกิจ Direct Coding หรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ เข้าไปในกลุ่มสินค้าประเภทยา อาหารเสริม และ Wine จากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการให้กับกรมสรรพาสามิตในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในกลุ่มเบียร์ ที่ทำรายได้ 900 ล้านบาท/ปีให้กับ SAMART ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทจะต่อยอดไปเครื่องดื่มน้ำอัดลมในอนาคต
นายรัฐนันท์ วิไลลักษณ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและนักลงทุนสัมพันธ์ SAMART กล่าวเสริมว่า งาน Direct Coding ในกลุ่มยา และอาหารเสริม อยู่ระหว่างเจรจากับองค์การอาหารและยา (อย.) คืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว ซึ่งขณะนี้มีประเด็นของ “ดิ ไอคอน” ขึ้นมา ทำให้รัฐบาลต้องการเข้ามาดูแลสินค้าประเภทนี้ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นและดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอาหารเสริม ส่วนยาบางประเภทพบการปลอมแปลงสูง โดยคาดว่าช่วงต้นปี 68 น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า จากการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มสามารถ เชื่อว่าผลประกอบการปี 67 จะพลิกมีกำไร จากปีก่อนขาดทุน 389.92 ล้านบาท แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีผลขาดทุนราว 128.62 ล้านบาท จากผลกระทบการตั้งประมาณการหนี้สินระยะยาวกรณีข้อพิพาทกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ (BAGOC) และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จำนวน 283 ล้านบาทในไตรมาส 2/67
และในช่วงครึ่งปีแรกรายได้ยังเติบโตได้ไม่มาก เพราะงบประมาณภาครัฐล่าช้า ทำให้ในปี 67 รายได้รวมอาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าในปี 67 จะมีรายได้รวมราว 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าในไตรมาส 4/67 จะรับรู้รายได้และกำไรมากขึ้นกว่าทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา
ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในช่วงเดือน 9 เดือนที่ผ่านมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ทุกสายธุรกิจมีทิศทางขาขึ้นและแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยในช่วง 9 เดือน มี Backlog ทั้งกลุ่มรวมเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะสายธุรกิจ ICT ที่มีผลงานโดดเด่นในไตรมาส 3 และคาดว่าในสิ้นปี 67 จะมี Backlog ทั้งกลุ่มรวมที่ 2 หมื่นล้านบาท
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมทั้งการบริหารงานและฐานะการเงินที่มั่นคง มีการออกหุ้นกู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยขยายธุรกิจตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และมีการชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดตรงเวลามาโดยตลอด โดยการประกาศขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1 ได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้สนใจซื้อถึง 643 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 85%
ล่าสุด SAMART เตรียมออกหุ้นกู้ครั้งที่ 2 เป็นหุ้นกู้อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 5.2% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งจะเปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 5-7 พ.ย.67 นี้ ทั้งนี้เพื่อจะนำเงินมาใช้คืนหุ้นกู้ที่จะหมดในต้นปีหน้าเดือนมกราคม จำนวน 1,675 ล้านบาท และเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯต่อไป
นายรัฐนันท์ กล่าวว่า สำหรับ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ได้เดินหน้าโครงการบริหารจัดการวิทยุการบินที่ สปป.ลาว ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเซ็นสัญญา MOU ได้ในไตรมาส 4/67 สัญญาระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/68 โดยในช่วงปี 62 วิทยุการบิน สปป.ลาว มีรายได้ 120 ล้านเหรียญ/ปี เติบโตมากกว่าเท่าตัวของวิทยุการบินในกัมพูชา จะช่วยหนุนให้ SAV เติบโตไปด้วย
ขณะที่ธุรกิจด้านการให้บริการจัดการการจราจรทางอากาศในกัมพูชา ช่วง 9 เดือนแรกปี 67 มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 7-8% เป็นผลจากรัฐบาลกัมพูชาออกแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เกิดเส้นทางบินใหม่รวมถึงมีการลงทุนเปิดสายการบินไหม่แอร์เอเชียกัมพูชา ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสการท่องเที่ยวและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/67 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น
ส่วน บมจ.สามารถเทเลคอม (SAMTEL) ไตรมาส 4/67 จะเป็นไตรมาสที่มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่มากที่สุด มูลค่ารวมประมาณ 6,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มใช้งบประมาณเต็มที่ อาทิ โครงการ Core Banking, โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และอื่น ๆ
ทั้งปี 67 คาดว่า SAMTEL จะมีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่รวมประมาณ 7,500 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมาเซ็นสัญญาโครงการใหม่ไปแล้วกว่า 1,500 บาท อาทิ โครงการของการนิคมอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กรมที่ดิน เป็นต้น รวม Backlog ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท
นายรัฐนันท์ กล่าวต่อว่า ด้าน บมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) ในปี 67 รับรู้รายได้จากค่าบริการ Airtime ตลอดทั้งปี ในโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล (Digital Trunked Radio System) ของโครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย (MOI) ประมาณ 317 ล้านบาท และล่าสุด SDC ได้รับการขยายอายุสัญญา 15 ปี จาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จึงเป็นการสร้างโอกาสในการขยายฐานผู้ใช้บริการ DTRS ในองค์กรสาธารณภัยซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศ
“SDC เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปีตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 602 ล้านบาท และผลขาดทุนจะลดลง โดยไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาขาดทุนลดลงค่อนข้างมาก เหลือหลักสิบล้าน”
ทั้งนี้ รายได้ของ SDC ส่วนใหญ่ กว่า 80% มาจาก Digital Trunked Radio และอีกกว่า 10% มาจากธุรกิจ Digital Content
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 67)
Tags: SAMART, วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์, สามารถ คอร์ปอเรชั่น, หุ้นไทย