นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเพา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง) ว่า วันนี้ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ซึ่งการแก้สัญญาเกิดจากรัฐบาลที่แล้วให้สัมปทานกับเอกชนไป แต่ปัญหาที่ผ่านมาเกิดโควิด-19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า และรัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงถือว่า ต่างคนต่างผิดสัญญา
นายสุริยะ กล่าวว่า สัญญาเดิมจะให้เอกชนสร้างจนเสร็จ และหลังจากนั้น 10 ปี รัฐบาลจะค่อยชำระเงิน ขณะที่สัญญาใหม่ จะให้เอกชนนำเงินมาวางค้ำประกันจากธนาคารเพื่อการันตี และเมื่อสร้างเสร็จรัฐบาลจะคืนหนังสือค้ำประกันโดยธนาคารการันตีให้ โดยในการก่อสร้างเมื่อแล้วเสร็จที่ตรงนั้นจะตกเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหากทำไปเรื่อย ๆ เกิดเอกชนทิ้งงาน รัฐจะจ้างผู้ประกอบรายใหม่
โดย ยืนยันว่า ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ เพราะเรื่องดอกเบี้ยเอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมระบุว่า ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ได้เนื่องจากสัญญาได้ให้อัยการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว และเรื่องนี้ต้องเข้าคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นผู้รับผิดชอบ และเชื่อว่า จะสามารถทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจในการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ต้องพิจารณาว่า หากมีการเชื่อม 3 สนามบินจะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก ทำให้การค้าขายดีขึ้น จึงต้องการเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป จึงต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะแก้ไขสัญญาอย่างไร เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 67)
Tags: รถไฟความเร็วสูง, สนามบิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, ไฮสปีด