นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 4/2567 ตลาดทั่วโลกอาจมีความผันผวนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ MFC จึงแนะนำ 3 กองทุนที่น่าสนใจและกองทุนหลักได้รับ 5 ดาว จาก Morningstar ที่จะช่วยให้นักลงทุนนำมาจัดพอร์ต เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนและฝ่าความผันผวนของตลาด ได้แก่ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล โฟกัส (MGF), กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ อิควิตี้ ฟันด์ (MGPROP) และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเดีย ซีเล็ค อิควิตี้ (MINDIA)
สำหรับ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล โฟกัส (MGF) ลงทุนในกองทุนหลักที่มีนโยบายลงทุนกระจายการลงทุนในหุ้นทั่วโลก เป็น Global Equity ระดับความเสี่ยง 6 เหมาะกับการใช้เป็น Core Port เพราะมีขอบเขตการลงทุนที่กว้าง มีความยืดหยุ่นเลือกลงทุนได้หลายตลาด ผลการดำเนินงานย้อนหลังโดดเด่นกองทุนหลักได้รับ Morning Star 5 ดาว โดยตั้งแต่ปี 2014 – 2023 กองทุนหลัก ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าดัชนีชี้วัด MSCI ACWI ถึง 8 ปี จากทั้งหมด 10 ปี นอกจากนี้กองทุนหลักยังได้รับ Morningstar Sustainability Rating ซึ่งเป็นเรื่องของ ESG ระดับ 5 ลูกโลก
MFC มองช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. นี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีโอกาสปรับฐาน จึงเป็นจังหวะลงทุนจากสถิติการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้อนหลังตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะผันผวนและปรับตัวลงก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือน ในช่วงเดือน ต.ค. (เฉลี่ย -1.73%) แต่จะปรับตัวขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. หลังรู้ผลการเลือกตั้ง (เฉลี่ย พ.ย. +0.98% และ ธ.ค. +1.32%)
“จุดเด่นของกองทุน MGF ลงทุนในกองทุนหลักที่เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลกเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth Stock) ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด มีความได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากหุ้นประเภทนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ จึงแนะนำลงทุนเป็นพอร์ตหลักและยังเลือกลงทุนผ่านกองทุนลดหย่อนภาษีได้ทั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)”นายธนโชติ กล่าว
ด้าน กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ อิควิตี้ ฟันด์ (MGPROP) ลงทุนในกองทุนหลักที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกกระจายการลงทุนในหลากหลายธุรกิจแบบ Valuation-Focus โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคาเหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดี รวมถึงหุ้นธุรกิจ Data Centers ที่เติบโตสูงในระยะยาวและเกาะกระแส AI และหุ้นธุรกิจที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
สำหรับความเคลื่อนไหวของราคา Global REITs ดัชนี FTSE NAREIT All Equity REITs Index ได้ปรับตัวลงมาจากต้นเดือน ต.ค. จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) และตลาดปรับตัวขึ้นมามากก่อนหน้าจึงคาดการณ์ Global REITs อาจพักฐานระยะสั้น ซึ่งคาดว่าการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำกัด โดยมีแนวต้านที่ 4.1% จากปัจจุบันที่ 4.0% และระยะยาวคาดว่าจะปรับตัวลง ทั้งนี้ ตามสถิติในอดีตบ่งชี้ว่า Global REITs มักทำผลตอบแทนได้โดดเด่นในปีที่ Bond Yield ปรับตัวลง ซึ่งผลตอบแทนราคาดัชนี FTSE Nareit All Equity REITs Index 3 เดือน +8.47% และ 1 ปี +28.26% (ข้อมูล ณ 16 ต.ค. 67)
สำหรับมุมมองการลงทุน Global REITs ให้น้ำหนักการลงทุนระยะสั้นและยาว Overweight เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์วัฏจักรดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขาลง ซึ่งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับลดดอกเบี้ยต่อ อีก 0.5% ในช่วงไตรมาส 4/2567 และปรับลดต่อ 1% ปีหน้า ส่งผลดีต่อต้นทุนการเงินที่ลดลงของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จากมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing และตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง นอกจากนี้นักวิเคราะห์มีโอกาสปรับประมาณการณ์กำไรกลุ่ม REITs และ Net Asset Value เพิ่มขึ้น ซึ่ง US REITs คาด Earning growth (Y+1) เติบโตเฉลี่ย 6% ในปี 2568
ส่วนกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเดีย ซีเล็ค อิควิตี้ (MINDIA) ลงทุนในกองทุนหลักที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก Jupiter India Select Fund โดยกองทุนหลักได้รับ Morningstar 5 ดาว เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ที่มีโอกาสเติบโตสูงในราคาที่สมเหตุสมผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดียยังเติบโตในระดับสูง 6-7% ต่อปี สวนทางเศรษฐกิจโลกจึงมองตลาดหุ้นอินเดีย เป็นโอกาสเข้าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะยาว เหมาะสำหรับใช้จัดพอร์ตการลงทุน
“ตลาดหุ้นอินเดีย มีการเติบโตเชิงโครงสร้าง (Structural Growth) ที่มีความมั่นคงในระยะยาว โดยธีมที่น่าสนใจ คือ หุ้น Mid-Small Cap เพราะหลายบริษัทไม่ได้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วไป นักวิเคราะห์ยังเข้ามา Cover ไม่มาก ทำให้ได้หุ้นที่ราคายังไม่แพง การเติบโตสูง Earnings Growth ระดับ 15-25% ต่อปี คาดว่าเศรษฐกิจและกำไรจะฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ได้ผลกระทบจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอตัวช่วงการเลือก ตั้งทั่วไป”นายธนโชติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 67)
Tags: MFC, กองทุนเปิด, ธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์