น่าเป็นห่วง! โพลชี้ปชช.เจอภัยหลอกลวงออนไลน์-ธุรกิจออนไลน์สูง จี้ภาครัฐต้องใช้กฎหมายเข้มงวด

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง”ภัยสังคมที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,357 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่15-18 ตุลาคม 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยมีประสบการณ์พบกับปัญหาภัยสังคมต่าง ๆ ร้อยละ 93.13(คนใกล้ตัวพบ ร้อยละ 51.73 และพบด้วยตนเอง ร้อยละ 41.40) โดยมองว่าภัยเรื่องการหลอกลวงออนไลน์ ธุรกิจออนไลน์น่าเป็นห่วงที่สุด ร้อยละ 77.84 ด้านอุปสรรคในการแก้ปัญหาภัยสังคม คือ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ร้อยละ 80.75และคิดว่าควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ร้อยละ 86.10

ทั้งนี้ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ร้อยละ 72.18 รองลงมาคือ รัฐบาล ร้อยละ 67.60 และตำรวจ ร้อยละ 64.98

สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลเกี่ยวกับภัยสังคม คือ ควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 62.75

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยพบปัญหาภัยสังคมสูงถึงร้อยละ 93.13 ภัยสังคมที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือภัยสังคมในรูปแบบออนไลน์ โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญคือ “กฎหมายไม่เข้มงวด”

ทั้งนี้อาจเพราะรู้สึกว่าผู้กระทำผิดหลายคนสามารถหลบหลีกการถูกลงโทษได้ หรือบทลงโทษไม่รุนแรงพอที่จะยับยั้งการกระทำผิดต่อไปได้ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แก้ปัญหาทั้งระบบ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

นางสาวมุทิตา มากวิจิตร์ อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของประชาชนที่มีต่อภัยสังคมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการหลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจออนไลน์ แชร์ลูกโซ่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน

จุดสำคัญที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดภัยสังคมดังกล่าวได้ดีที่สุด ก็คือภาครัฐจะต้องเพิ่มมาตรการและเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามกลุ่มคดีหลอกลวงให้ร่วมลงทุนธุรกิจออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ถือว่าเป็นภัยร้ายแรงที่มีมูลค่าความเสียหายและมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

นอกจากนี้ภาครัฐควรจะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องการป้องกันตนเองจากภัยอาชญากรรมต่าง ๆ รอบตัว เช่น จุดสังเกตกลลวงที่มิจฉาชีพใช้หลอกล่อประชาชนให้หลงเชื่อ ตลอดจนควรยกระดับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างสังคมไทยให้มีความปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้นต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top