INTERVIEW: NOK พร้อมกลับมาผงาด เตรียมเครื่องลุยเส้นทางอินเดีย-ญี่ปุ่น-จีน Q4/67 ปักธงพ้นแผนฟื้นฟู ก.ย.69

สายการบินนกแอร์ เป็นอีกสายการบินที่ได้รับผลกระทบการระบาดโควิด-19 จนต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่ 29 ก.ย.64 วันนี้ธุรกิจเริ่มพลิกกลับมาเป็นกำไร จากผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 67 มีกำไรสุทธิ 734.78 ล้านบาท จากปีก่อนในช่วงเดียวกันที่มีผลขาดทุนสุทธิ 388.24 ล้านบาท โดยปัจจุบัน สายการบินนกแอร์มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่กว่า 20%

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะออกจากแผนฟื้นฟูในวันที่ 30 ก.ย.69 และจะสามารถกลับเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นได้อีกครั้งในไตรมาส 4/69 ซึ่งปัจจุบันจำนวนหนี้เหลืออยู่ประมาณ 400 ล้านบาทไม่นับรวมหนี้เงินกู้จากนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NOK

โดยในปี 69 บริษัทจะเพิ่มทุน 5 พันล้านบาท จะนำเงินไปใช้คืนเงินกู้จากผู้ถือหุ้น 2,700 ล้านบาท จัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมฝูงบิน และค่าใช้จ่ายซ่อมใหญ่เครื่องบิน

สถานการณ์ธุรกิจการบินดีขึ้นตามลำดับ ตามเศรษฐกิจโลกและไทยฟื้นตัวขึ้นมาจากวิกฤตโควิด-19 โดยสายการบินนกแอร์วางแผนจัดหาเครื่องบินรองรับไฮซีซั่นในไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากที่ปลดระวางเครื่องบินแบบใบพัด Q400 ออก 10 ลำช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง และเหลือเครื่องบินแบบเดียวคือ เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ที่มีอยู่ 14 ลำ แต่ปัจจุบันมีเครื่องบินใช้ดำเนินการอยู่ 8 ลำ โดยจะนำเครื่องบินที่จอดซ่อมเสร็จแล้วมาใช้งานได้อีก 3 ลำกลับมาใช้ในช่วงไตรมาส 4/67 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ก็จะมีจำนวนเครื่องบินใช้ดำเนินการในต.ค.นี้จำนวน 11 ลำ และจะเช่าเครื่องบินใช้ทำการบินชั่วคราว 6 เดือน (พ.ย.67-เม.ย.68) อีก 2 ลำ

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 67 รายได้จะอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านบาททรงตัวจากปี 66 ที่ 8.7 พันล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะเพิ่มจุดบินใหม่ในต่างประเทศ ได้แก่ มุมไบ (อินเดีย) จะเริ่มทำการบิน 27 ต.ค.นี้ ญี่ปุ่น 1 เมือง แต่ไม่ใช่เมืองฮิโรชิมาที่เคยเปิดไปก่อนโควิด ส่วนจีน ตั้งเป้าเปิดบิน 4 เมือง

การเพิ่มจุดบินในต่างประเทศจะช่วยให้เพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินสูงขึ้น จากเดิม 10.5 ชั่วโมง/วัน/ลำ เป็น 13 ชั่วโมง/วัน/ลำในไตรมาส 4/67 ทั้งนี้คาดว่าทั้งปี 67 จะมีผู้โดยสาร 4 ล้านคน

นอกจากนี้ได้แก้ไข Pain point เรื่องเครื่องดีเลย์ จะเห็นได้จากในเดือนต.ค.นี้ นกแอร์ มี On time Performance มากกว่า 90% ซึ่งเทียบกับมาตรฐานระดับโลกอยู่ที่ 85%

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า สายการบินนกแอร์ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737Max-8 จำนวน 6 ลำ ซึ่งได้วางเงินดาวน์แล้ว 200 กว่าล้านบาท รอคิวผลิตและส่งมอบในอีก 4-5 ปี รองรับการขยายตลาดไปยังโซนเอเชีย ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ที่สามารถบินได้ประมาณ 6 ชั่วโมง โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้รับมอบเครื่องบินใหม่ นกแอร์จะไปจัดหาจากสายการบินที่ปิดกิจการแล้ว ขณะเดียวกันก็จะใช้แนวทางเช่าเครื่องชั่วคราวไปก่อน โดยในปี 68 คาดหวังว่าจะมีเครื่องบินกลับมาทำการบินอีก 6 ลำ หรืออย่างน้อย 2 ลำ

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปี 68 รายได้เติบโตอย่างน้อย 20% ขึ้นมาแตะ 1 หมื่นล้านบาท และปี 69 รายได้กระโดดขึ้นมาเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า สายการบินนกแอร์ยังได้จับมือกับพาร์ทเนอร์กับสายการบินต่างๆ ที่บินอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะสายการบินไทย (THAI) ซึ่ง THAI ยังถือหุ้น NOK อยู่ราว 10% โดยนกแอร์จะเป็น Connecting Flight ให้กับสายการบินไทยได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า โดยสายการบินนกแอร์จะเพิ่มฐานการบินและมีแผนเพิ่มเครื่องบินใหม่ไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับภายในประเทศและต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top