“โรบินฮู้ด” (Robinhood) บริษัทฟินเทคของสหรัฐฯ ที่ให้บริการด้านการเงินได้เปิดตัวแพลตฟอร์มเทรดหุ้นสำหรับเดสก์ท็อปที่ทุกคนรอคอย พร้อมเพิ่มฟีเจอร์การซื้อขายฟิวเจอร์และออปชันดัชนีลงในแอปมือถือเมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) โดยโรบินฮู้ดมุ่งหมายที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดจากโบรกเกอร์แบบดั้งเดิม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โรบินฮู้ด แอปเทรดแบบไร้ค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนรายย่อยในปี 2564 นั้น กำลังมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบ เพื่อแข่งขันกับโบรกเกอร์รายใหญ่ที่ให้บริการนักลงทุนสถาบัน
โรบินฮู้ดซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมนโลพาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนียระบุว่า แพลตฟอร์มเทรดบนเดสก์ท็อปที่มีชื่อว่า “โรบินฮู้ด เลเจนด์” (Robinhood Legend) จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเทรดเดอร์ที่ทำการซื้อขายบ่อยครั้ง
“เราเติบโตเคียงข้างมากับลูกค้า และได้รับฟังความต้องการของพวกเขาอย่างชัดเจนว่า พวกเขาต้องการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและเครื่องมือเทรดที่ตอบโจทย์การซื้อขายที่คล่องตัวมากขึ้น” สตีฟ เคิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายโบรกเกอร์กล่าวกับรอยเตอร์
“เป้าหมายระยะยาวของเราคือการทำให้โรบินฮู้ดเป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินหลักที่ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า”
แพลตฟอร์มนี้ให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมมอบเครื่องมือเทรดขั้นสูง ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และรูปแบบหน้าจอที่ปรับแต่งได้เอง รวมถึงแบบสำเร็จรูป
ขณะเดียวกัน แอปจะอนุญาตให้ผู้ใช้ซื้อขายฟิวเจอร์ของดัชนี S&P500, น้ำมัน และบิตคอยน์ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถซื้อขายออปชันดัชนีได้อีกด้วย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโบรกเกอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งแต่เดิมครองตลาดโดยบริษัทชื่อดังอย่าง แวนการ์ด (Vanguard), ชาร์ลส์ ชวาร์บ (Charles Schwab) และฟิเดลิตี้ อินเวสต์เมนต์ส (Fidelity Investments) นั้น ได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ เมื่อโรบินฮู้ดบุกเบิกการเทรดแบบไม่มีค่าธรรมเนียมในปี 2556
หลังจากผ่านไปหนึ่งทศวรรษ โรบินฮู้ดกำลังขยายธุรกิจเพื่อให้บริการแก่นักลงทุนที่มีประสบการณ์สูงขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว การซื้อขายฟิวเจอร์และออปชันมักเป็นการลงทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร กองทุนเฮดจ์ฟันด์ และผู้จัดการสินทรัพย์ เนื่องจากมีข้อกำหนดมาร์จินสูงขึ้น มีความผันผวนเพิ่มขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และค่าธรรมเนียมสูงกว่าการลงทุนทั่วไป
ผู้ใช้ที่สมัครสมาชิกระดับพรีเมียม “โรบินฮู้ด โกลด์” (Robinhood Gold) จะสามารถซื้อขายฟิวเจอร์โดยเสียค่าธรรมเนียมต่ำเพียง 50 เซนต์ต่อสัญญา ขณะที่ผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกระดับโกลด์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 75 เซนต์ต่อสัญญา
ค่าธรรมเนียมดังกล่าวของโรบินฮู้ดต่ำกว่าของคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด เช่น ชวาร์บคิดค่าธรรมเนียม 2.25 ดอลลาร์ต่อสัญญาฟิวเจอร์ ขณะที่แพลตฟอร์ม E*TRADE ของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) คิดค่าธรรมเนียม 1.50 ดอลลาร์ต่อสัญญาฟิวเจอร์ทั่วไป และ 2.50 ดอลลาร์ต่อสัญญาคริปโทฯ ฟิวเจอร์
นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมของโรบินฮู้ดสำหรับการซื้อขายออปชันดัชนี ซึ่งกำหนดไว้ที่ 35 เซนต์ต่อสัญญาสำหรับสมาชิกระดับโกลด์ และ 50 เซนต์ต่อสัญญาสำหรับผู้ใช้ทั่วไปนั้น ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย
ณ วันที่ 30 มิ.ย. บริษัทโรบินฮู้ดมีผู้ใช้งานรายเดือน 11.8 ล้านคน และมีลูกค้าระดับพรีเมียม “โกลด์” จำนวน 1.98 ล้านคน
นักวิเคราะห์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การที่โรบินฮู้ดเข้าสู่ตลาดซื้อขายฟิวเจอร์ในปีนี้อาจทำให้เทรดเดอร์รายย่อยมีความระมัดระวังหากโรบินฮู้ดเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายส่วนแบ่งตลาดของโรบินฮู้ดได้เช่นกัน
ช่วงต้นปีนี้ โรบินฮู้ดได้ให้คำมั่นที่จะขยายมาร์จิน พร้อมกับมุ่งเน้นไปที่การผลักดัน “การเติบโตที่ทำกำไร” ในปี 2567 การที่บริษัทมีรายงานกำไรติดต่อกัน 3 ไตรมาสยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 67)
Tags: Robinhood, โบรกเกอร์, โรบินฮู้ด