ผู้นำซีตีออฟลอนดอนชี้ เบร็กซิตคือ “หายนะ” ทำให้งานด้านการเงินหายไป 4 หมื่นตำแหน่ง

ไมเคิล เมเนลลี นายกเทศมนตรีซีตีออฟลอนดอน (City of London) เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ (16 ต.ค.) ว่า การที่สหราชอาณาจักร (UK) ออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือที่เรียกว่า “เบร็กซิต” (Brexit) นั้น ทำให้ศูนย์กลางทางการเงินของลอนดอนแห่งนี้ต้องสูญเสียงานไปประมาณ 40,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้มาก

เมเนลลีกล่าวเสริมว่า กรุงดับลินดูดซับงานเหล่านี้ไปได้มากที่สุดถึง 10,000 ตำแหน่ง ขณะที่เมืองอื่น ๆ ในยุโรปอย่างกรุงมิลาน กรุงปารีส และกรุงอัมสเตอร์ดัม ต่างก็ได้รับอานิสงส์จากการย้ายถิ่นฐานของงานเหล่านี้จากลอนดอนไปยังเมืองต่าง ๆ หลังจากที่ UK ลงประชามติออกจาก EU ในปี 2559

“เบร็กซิตคือหายนะชัด ๆ ปี 2559 เรามีคนทำงาน 525,000 คน แต่ตอนนี้ผมประเมินคร่าว ๆ ว่าเราเสียคนงานไปเกือบ 40,000 คนแล้ว”

เมเนลลี ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของซีตีออฟลอนดอน กล่าว

ตัวเลขที่เมเนลลีประเมินไว้นั้นสูงกว่าที่บริษัทที่ปรึกษา EY เคยคาดการณ์ไว้ในปี 2565 มาก โดย EY ประเมินว่ามีงานหายไปจากลอนดอนเพราะย้ายไป EU เพียง 7,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ เมเนลลีมีความเชี่ยวชาญในตลาดการเงิน UK โดยก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งนี้ เขาเคยใช้เวลาหลายปีติดตามความเป็นไปของตลาด และยังมีสายสัมพันธ์กับบริษัทต่าง ๆ ในซีตีออฟลอนดอนอีกนับร้อยแห่ง

อนึ่ง ซีตีออฟลอนดอนเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งกรุงลอนดอน กินพื้นที่กว้างกว่าหนึ่งตารางไมล์ โดยเป็นที่ตั้งของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), ธนาคารนานาชาติ และบริษัทประกันภัยต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เมเนลลีกล่าวว่า ซีตีออฟลอนดอนก็กำลังเติบโต มีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นในภาคส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากภาคการเงิน ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากเบร็กซิตได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประกันภัยและการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ปัจจุบันมีคนทำงานในซีตีออฟลอนดอนเพิ่มขึ้นเป็น 615,000 คนแล้ว

ถึงกระนั้น ตัวเลขที่เมเนลลีประเมินไว้ก็สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบมหาศาลของเบร็กซิต ในขณะที่ UK กำลังพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับยุโรปแผ่นดินใหญ่

“คนในซีตีออฟลอนดอนโหวตให้อยู่ใน EU ถึง 70 ต่อ 30 เราไม่ได้อยากออก” เมเนลลีย้ำ พร้อมเสริมว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังทุ่มเทอย่างหนักเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับยุโรปให้มากขึ้น โดยปีนี้เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมาแล้วถึง 9 ครั้ง

ความพยายามของเมเนลลีในการกระชับความสัมพันธ์กับยุโรปแผ่นดินใหญ่เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของ UK ที่กำลังซบเซาและแตกแยกอย่างหนักจากเรื่องเบร็กซิต

แม้หลายคนเคยหวังว่าเบร็กซิตจะทำให้ UK มีอิสระมากขึ้น เช่น ลดจำนวนผู้อพยพ ยกเลิกกฎระเบียบยุ่งยากของ EU และกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับกลายเป็นว่า จำนวนผู้อพยพยิ่งเพิ่มขึ้น กฎระเบียบก็แก้ไขยาก และเศรษฐกิจก็ยังคงซบเซา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ UK เคียร์ สตาร์เมอร์ กำลังพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับยุโรปแผ่นดินใหญ่ ซึ่งบอบช้ำมานานหลายปีจากการเจรจาเรื่องเบร็กซิต สตาร์เมอร์ต้องการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำธุรกิจกับประเทศใน EU เช่น การทำข้อตกลงยอมรับร่วมกันเรื่องคุณสมบัติวิชาชีพ แต่ยืนยันว่าจะไม่กลับเข้าร่วมตลาดเดียวของ EU อีก

เมเนลลีกล่าวว่า “เรายังทำอะไรได้อีกมากในเรื่องวีซ่า” เพื่อช่วยเหลือซีตีออฟลอนดอน “เรากำลังเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับเยอรมนีด้วย”

ทั้งนี้ ภาคการเงินที่เคยเป็นดาวเด่นของอุตสาหกรรม UK ก็กำลังอยู่ในช่วงขาลงเช่นกัน โดยผลผลิตทางเศรษฐกิจในซีตีออฟลอนดอนตกลงไปกว่า 15% นับตั้งแต่ปลายปี 2562 ช่วงก่อนที่ UK จะออกจาก EU อย่างเป็นทางการ

ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลจากบัญชีประชาชาติระบุว่า โดยรวมแล้ว ผลผลิตในภาคบริการทางการเงินของ UK ลดลง 1% ตั้งแต่ปลายปี 2562 สวนทางฝรั่งเศสและเยอรมนีที่เติบโต 8% และไอร์แลนด์ที่เติบโตถึง 18%

ยอดส่งออกจากบริการทางการเงินของ UK ในขณะนี้ถูกบริการทางธุรกิจประเภทอื่น ๆ เช่น กฎหมายและการโฆษณา แซงหน้าไปแล้ว

เมื่อเดือนมี.ค. หน่วยงานคาดการณ์งบประมาณของรัฐบาล UK ระบุว่า การคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ว่าเบร็กซิตจะทำให้ปริมาณการค้าลดลง 15% นั้น “ค่อนข้างเป็นไปตามคาด”

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดจากหลายสำนักชี้ว่า คน UK ส่วนใหญ่คิดว่าเบร็กซิตเป็นความล้มเหลว แต่ฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิตยังคงยืนยันว่า การออกจาก EU ทำให้ UK มีอิสระในการกำหนดเส้นทางของตัวเองมากขึ้น โดยยกตัวอย่างปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีและความวุ่นวายทางการเมืองในฝรั่งเศส เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อด้อยของ EU

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top