นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดูระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หากเป็นประกาศที่นายกรัฐมนตรีลงนามได้ก็ให้รีบดำเนินการเสนอขึ้นมา เช่น การใช้พื้นที่เขตป่าสงวน หรือพื้นที่อุทยาน เป็นต้น เพื่อที่จะเร่งในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ และขอให้ทุกส่วนราชการวางแผนอย่างเป็นระบบ
และในช่วงสิ้นเดือนต.ค. ถึงต้นเดือนพ.ย. จะมีการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม พร้อมรับฟังปัญหาและเร่งแก้ไข โดยจะพิจารณาว่าจะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่หรือเชียงราย ทั้งนี้ จะไปติดตามการฟื้นฟูการแก้ปัญหา การฟื้นฟู รวมถึงการป้องกันอุทกภัยที่เกิดขึ้น และยังเห็นว่าควรที่จะมีการจัดกิจกรรมใหญ่ ๆ เช่น กิจกรรมแอ่วเหนือ หรือกิจกรรมลอยกระทง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมพื้นเมือง
ในที่ประชุมฯ ยังรับทราบถึงการจ่ายค่าเยียวยาค่าล้างโคลนในบ้านของประชาชน โดยจะต้องไปสรุปให้ชัดเจนว่า เป็นบ้านประเภทไหน ดินโคลนค้างในบ้านแล้วกี่วัน โดยจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา ว่าได้ไม่เท่ากัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้ศปช.ส่วนกลาง และส่วนหน้า แจ้งเตือนประชาชนตลอดทั้งวัน ซึ่งถือว่าปีนี้การแจ้งเตือนไม่ค่อยมีข้อผิดพลาด ศปช.ให้ข้อมูลชัดเจน และทุกภาคส่วนก็ดำเนินการได้อย่างรัดกุม โดยเฉพาะ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ที่อยู่ประจำพื้นที่ศปช.ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้เกาะติดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าขณะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือได้มีการลดระดับลงแล้ว และเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว
ขณะที่การแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ จะต้องมีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และเมียนมา โดยจะมีการพูดคุยกันในเร็ววันนี้ เพื่อที่จะกำหนดกรอบในการเตือนภัยให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ ป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบการรายงานโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเห็นว่าถ้าทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวควรจะทำทั้งประเทศหรือไม่ ดังนั้น ในวันนี้โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่งจึงยังไม่ได้ข้อสรุป โดยได้มีการเสนอ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 คือคนละครึ่ง แนวทางที่ 2 คือหนึ่งแถมหนึ่ง ดังนั้น ภายในสัปดาห์หน้าคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปและนำเข้าที่ประชุม ครม. ต่อไป เพื่อขับเคลื่อนโครงการตามที่ได้กำหนดไว้คือ วันที่ 1 พ.ย. นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 67)
Tags: จิรายุ ห่วงทรัพย์, น้ำท่วม, อุทกภัย, แอ่วเหนือคนละครึ่ง