ผู้นำสื่อทั่วโลกร่วมสำรวจโอกาส-ความท้าทายของ AI ที่การประชุม World Media Summit

ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

ผู้นำด้านสื่อจากทั่วโลกมารวมตัวกันที่เมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในยุคที่เทคโนโลยี AI กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและการทำงานของผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ

การประชุมเวิลด์ มีเดีย ซัมมิต (World Media Summit) ครั้งที่ 6 เปิดฉากขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ต.ค.) โดยผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน จาก 106 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงตัวแทนจากสื่อกระแสหลัก หน่วยงานรัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศ 208 แห่ง ได้หารือกันภายใต้หัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์กับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ” (Artificial Intelligence and Media Transformation) เพื่อสำรวจผลกระทบของ AI ที่มีต่ออุตสาหกรรมสื่อทั่วโลก พร้อมทั้งพิจารณาบทบาทและความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไปของสื่อท่ามกลางการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งนี้

ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมเน้นย้ำความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างมีเหตุผล ในขณะที่ยังคงรักษาจรรยาบรรณนักข่าวและมาตรฐานวิชาชีพ นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้วงการสื่อทั่วโลกร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าด้าน AI ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาในระดับโลก

“เราควรดำเนินการเชิงรุกเพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสเทคโนโลยี ติดตามความก้าวหน้าของ AI อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) เช่น แชตจีพีที (ChatGPT) และโซรา (Sora) รวมทั้งคว้าทุกโอกาสเพื่อนวัตกรรมสื่อ”

ฟู่หัว ผู้อำนวยการใหญ่สำนักข่าวซินหัวของจีน กล่าวในพิธีเปิด

ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

* ความรับผิดชอบและพันธกิจของสื่อในยุค AI ครองโลก

ผู้บริหารด้านสื่อยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ดังสะท้อนให้เห็นในผลการสำรวจระดับโลกที่จัดทำโดยสถาบันซินหัว (Xinhua Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของสำนักข่าวซินหัว การสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่มีชื่อว่า “ความรับผิดชอบและพันธกิจของสื่อในยุค AI” (Responsibility and Mission of News Media in AI Era) และได้รับการเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ผลสำรวจพบว่า องค์กรสื่อที่ถูกสัมภาษณ์มากกกว่าครึ่งได้เริ่มนำ Generative AI มาใช้ในกระบวนการทำงานแล้ว

นอกจากนี้ เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การแนะนำโดยอัลกอริทึม การโต้ตอบด้วยเสียง และการสร้างภาพ กำลังถูกนำมาใช้งานมากขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการเก็บรวบรวมข่าว การผลิต การเผยแพร่ การรับข้อมูล และการให้ข้อเสนอแนะหรือคำติชม

นายฟู่กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายที่ AI ส่งผลกระทบต่อนวัตกรรมสื่อว่า “มหาศาล และอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” พร้อมย้ำความสำคัญของการที่มนุษย์ควรต้องเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร

“เราควรก้าวข้ามแนวคิดแบบมุ่งเน้นเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ของบรรณาธิการและนักข่าวอย่างมีประสิทธิภาพ”

ผู้อำนวยการใหญ่สำนักข่าวซินหัวกล่าว

ด้านอันเดรย์ คอนดราชอฟ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักข่าวทาสส์ (Tass) ของรัสเซีย กล่าวในการประชุมว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ความรับผิดชอบหลักของสื่อในการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูง มีความน่าเชื่อถือ และมีความหมาย ยังคงเป็นหน้าที่ของมนุษย์

ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

นอกจากนี้ บรรดาผู้บริหารด้านสื่อยังได้เตือนถึงความเสี่ยงและความท้าทายที่สำคัญซึ่งเกิดจาก AI เช่น ข่าวปลอม ระบบการกรองข้อมูล (Filter Bubble) ดีปเฟก (Deepfake) การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและคุกคามความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

จากผลสำรวจพบว่า เกือบ 30% ขององค์กรสื่อที่ถูกสัมภาษณ์ไม่มั่นใจว่า ประโยชน์ของ Generative AI มีมากกว่าข้อเสียหรือไม่

นอกจากนี้ 76.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการบิดเบือนและความคลาดเคลื่อนของประเด็นข่าวและเนื้อหาข่าวที่นำเสนอ ขณะที่ 61.1% แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาลิขสิทธิ์และความรับผิดชอบทางกฎหมาย

กาน หลิง-ซี รองประธานสำนักข่าวรอยเตอร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าความก้าวหน้าของ Generative AI จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสร้างข้อมูลเท็จและบิดเบือนข้อมูลให้ดูสมจริงมากยิ่งขึ้น “ในโลกที่มีคอนเทนต์มากมายเช่นนี้ แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เข้มงวด และความโปร่งใสจะมีความจำเป็นมากขึ้น”

* 4 สำนักข่าวชั้นนำระดับโลกหารือพัฒนาการสื่อในยุค AI

ก่อนการประชุมเวิลด์ มีเดีย ซัมมิต เปิดฉากอย่างเป็นทางการที่เมืองอุรุมซี เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสำนักข่าวชั้นนำระดับโลก 4 แห่ง ได้แก่ สำนักข่าวซินหัว สำนักข่าวรอยเตอร์ สำนักข่าวเอพี (AP) และสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) ได้ประชุมร่วมกันที่กรุงปักกิ่ง ผู้บริหารทั้งสี่มองว่า สำนักข่าวควรใช้ AI อย่างจริงจังเพื่อเสริมศักยภาพด้านสื่อสารมวลชน ในขณะเดียวกันก็ควรจัดทำมาตรการเพื่อบรรเทาความเสี่ยง พร้อมเสริมว่าสื่อควรยึดมั่นในมาตรฐานการสื่อสารมวลชน และมุ่งมั่นที่จะนำเสนอข่าวที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และเป็นกลางแก่ผู้ชม

ทั้งนี้ นายฟู่กล่าวว่า สำนักข่าวซินหัวยินดีที่จะร่วมมือกับสื่ออื่น ๆ ในการสร้างห้องปฏิบัติการสื่อ AI ข้ามชาติและข้ามภูมิภาค พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับประสบการณ์และการแบ่งปันความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับ AI เพื่อช่วยลด “ช่องว่างทางดิจิทัล” (Digital Divide) อีกทั้งยังเรียกร้องให้สื่อทั่วโลกกำหนดมาตรฐานวิชาชีพเพื่อรักษาจรรยาบรรณของนักข่าวในยุค AI

“การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับโลก และความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์”

นายฟู่กล่าว พร้อมเสริมว่า AI กำลังเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์การผลิตและเผยแพร่ข่าวสาร

ในขณะที่เทคโนโลยี AI ช่วยเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ ผลงาน และความสามารถในการผลิตข่าวสาร แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดังกล่าวยังเพิ่มความเสี่ยงในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านรูปภาพและวิดีโอที่สร้างโดย AI ซึ่งสร้างความท้าทายต่อการพัฒนาสื่อ

“สำนักข่าวชั้นนำระดับโลกควรร่วมกันแบกรับความรับผิดชอบในการยึดมั่นจริยธรรมของนักข่าว เพื่อสร้างความมั่นใจว่ารายงานข่าวของพวกเขาถูกต้อง เป็นธรรม มีหลักฐานพิสูจน์และเชื่อถือได้”

ผู้อำนวยการใหญ่สำนักข่าวซินหัวกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top