ธนาคารโลกรายงานในวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 3.6% ในปีนี้ จากที่เคยขยายตัว 5.8% ในปี 2566 สาเหตุมาจากการฟื้นตัวหลังยุคโควิด-19 เริ่มหมดแรง โดยเฉพาะฟีจี ซึ่งเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ก็ประสบปัญหาการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจชะงักงันในระยะยาวเนื่องจากการลงทุนที่ซบเซา ภัยคุกคามจากสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ยังเตือนว่า หากไม่เร่งกระตุ้นการลงทุนโดยด่วน ประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกอาจต้องดิ้นรนหนักขึ้นในการแก้ปัญหาความยากจนและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้กับประชาชน
ธนาคารโลกชี้ว่า การลงทุนในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกหดตัวโดยเฉลี่ยถึง 7 ปีจากช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
รายงานยังระบุว่า แนวโน้มการลงทุนในภูมิภาคนี้ “น่าวิตกกังวล” โดยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของการลงทุนใน 11 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจะอยู่ที่ราว 1% ต่อปีในทศวรรษนี้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2543-2562 ที่เคยขยายตัว 4.2% อย่างเห็นได้ชัด
ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเฉลี่ยปีละ 1.5% ของ GDP หลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องดิ้นรนรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังเกิดภัยพิบัติอย่างพายุไซโคลน ทำให้ติดอยู่ในวงจร “สร้าง-พัง-ซ่อม” ไม่รู้จบ
แม้ว่าประเทศเกาะเล็ก ๆ ในแปซิฟิกที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับมาเยือนอีกครั้ง แต่เศรษฐกิจของฟีจีกลับคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือแค่ 3% ในปี 2567
หนี้สาธารณะของฟีจีพุ่งสูงถึง 79% ของ GDP ในปี 2567 ซึ่งนับว่าสูงลิบลิ่วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค และสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึงหนึ่งในสาม
ส่วนวานูวาตู การปิดตัวลงของสายการบินแห่งชาติแอร์วานูวาตู ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจสั่นคลอนอย่างรุนแรงและการเติบโตชะลอตัวลงเหลือเพียง 0.9% ด้านธนาคารโลกเปิดเผยว่า วานูวาตูประสบปัญหาการลงทุนที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานถึง 10 ปีแล้ว
รายงานระบุว่า นอกจากการลงทุนในการท่องเที่ยวและเกษตรกรรมแบบยั่งยืนแล้ว ภูมิภาคนี้ยังจำเป็นต้องลงทุนในท่าเรือ ยกระดับระบบขนส่งระหว่างเกาะ และเร่งพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึง
แม้ว่าจะมีเขตทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่หมู่เกาะแปซิฟิกยังไม่สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทรัพยากรทางทะเล ทั้งในด้านการประมงยั่งยืน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล
ดานา วอริเซค นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกกล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงซูวา ประเทศฟีจี ว่า ค่าบริการอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ค่อนข้างแพงและความเร็วต่ำเมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ ทั่วโลก
“ปัญหาการเชื่อมต่อดิจิทัลต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง” วอริเซคย้ำ
เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกหลายรายกล่าวว่า จำเป็นต้องปรับปรุงระบบการชำระเงินและเพิ่มช่องทางชำระเงินดิจิทัล เพื่อให้เงินที่แรงงานต่างถิ่นส่งกลับบ้านช่วยครอบครัวได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 67)
Tags: ธนาคารโลก, หมู่เกาะแปซิฟิก