นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ชี้แจงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีข้อมูลว่า จะมีโอกาสพายุเข้าประเทศเวียดนามระหว่างวันที่ 13 – 14 ต.ค.นี้ ประเทศไทยจึงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่ได้มาจากแหล่งข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา อาจเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและจากการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่องยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนใกล้บริเวณประเทศไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวปลอมได้ที่ เพจกรมประชาสัมพันธ์ หรือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเจ้าพระยาขึ้น-ลง เขตใดเสียหายบางส่วนหรือเสียหายยกเขตจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกทม. ย้ำว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง ขอประชาชนอย่าได้หลงเชื่อและส่งต่อสำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร จากการถอดบทเรียนปี 2565 ที่มีฝนตกในปริมาณมากนั้น มีจำนวน 737 จุด ซึ่งมีความละเอียดกว่าข้อมูลบิดเบือนที่ถูกปล่อยออกมามาก
ทั้งนี้ จุดเสี่ยงน้ำท่วม 737 จุดนั้น เป็นจุดที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมขังในมีกรณีฝนตกหนักถึงระดับ 100 มม. ขึ้นไป ซึ่งกรุงเทพมหานครได้วางแนวทางแก้ไขในแต่ละจุดแล้ว อาทิ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ทำ pipe jacking ท่อระบายน้ำ
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม น้ำเหนือ-น้ำหนุน นั้น คือชุมชนที่อยู่นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีจำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต โดยได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง อาทิ ยกของขึ้นที่สูง สำรวจปลั๊กไฟ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที ส่วนพื้นที่ปลอดภัยภายในแนวเขื่อนกั้นน้ำนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยง เตรียมพร้อมอุปกรณ์ป้องกันน้ำ บำรุงรักษาแนวเขื่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 67)
Tags: กรมอุตุนิยมวิทยา, ข่าวปลอม, น้ำท่วม