ธนาคารโลก (World Bank) เผยเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเติบโตเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกในปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะอยู่ที่ 2.4% ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.8%
ในรายงานอัปเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 4.8% ในปี 2567 แต่จะชะลอตัวลงเหลือ 4.4% ในปี 2568 โดยคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จะลดลงจาก 4.8% ในปีนี้ เหลือ 4.3% ในปี 2568 อันเป็นผลมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และสถานการณ์ความขัดแย้งในระดับโลก
ธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคจะอยู่ที่ 4.7% ในปี 2567 และ 4.9% ในปี 2568 จากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัว และการกลับมาของการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ในบรรดาประเทศขนาดใหญ่ มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่คาดว่าการเติบโตในปี 2567 และ 2568 จะอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 หรือสูงกว่านั้น ในขณะที่การเติบโตในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม คาดว่าจะต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด
เวิลด์แบงก์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.4% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568 เทียบกับรายงานเมื่อเดือนเมษายนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% และ 3.0% ตามลำดับ
สำหรับประเทศในอาเซียน คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัว 4.9% และ 4.5% อินโดนีเซีย 5.0% และ 5.1% ฟิลิปปินส์ 6.0% และ 6.1% และคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.1% และ 6.5% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ
ส่วนกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนั้น คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.5% ในปี 2567 และ 3.4% ในปี 2568 เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่การเติบโตของการลงทุนยังคงอ่อนแอทั่วทั้งภูมิภาค
“ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก” มานูเอลา วี เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “อย่างไรก็ตาม การเติบโตเริ่มชะลอตัว ดังนั้นเพื่อรักษาการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะกลางไว้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงและปฏิรูปเศรษฐกิจของตนให้ทันสมัยเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและเทคโนโลยี”
นอกจากนี้ รายงานอัปเดตเศรษฐกิจฉบับนี้ยังได้เน้นปัจจัยสามประการที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตในภูมิภาค ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการค้าและการลงทุน การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของนโยบายระดับโลกที่เพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 67)
Tags: GDP, ธนาคารโลก, เศรษฐกิจไทย