ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.ย. ลดต่อทุกภาคสะท้อนกังวลภาวะศก. ฉุดความเชื่อมั่นทรุด

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC -CI) เดือน ก.ย. 67 ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-27 ก.ย. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 49.4 ลดลงจากระดับ 50.5 ในเดือนส.ค. 67 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำกว่าระดับ 50

ทั้งนี้ เป็นผลจากภาคธุรกิจไม่มีความเชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีสัญญาณวิตกกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างสูง กังวลสถานการณ์หลายเรื่อง ทั้งเรื่องการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ แย่ มากกว่าดีขึ้น

 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

– กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 49.1 ลดลงจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.0

– ภาคกลาง อยู่ที่ 49.4 ลดลงจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.2

– ภาคตะวันออก อยู่ที่ 52.1 ลดลงจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.2

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 49.2

– ภาคเหนือ อยู่ที่ 49.3 ลดลงจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 50.7

– ภาคใต้ อยู่ที่ 48.6 ลดลงจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 49.6

“ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว โดยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคตะวันออก มีดัชนีต่ำกว่า 50 หมด ทั้งนี้ ภาคตะวันออกปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน แต่ก็ยังมากกว่า 50 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังคงเดินทางมาเที่ยว” นายวชิร กล่าว

 

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่

1. อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขัน

2. ต้นทุนทางด้านการเงินยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสภาพคล่องของธุรกิจที่มีไม่มาก

3. สภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้บางพื้นที่ของประเทศไทยได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก จนทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับความเดือดร้อน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร

4. ความเสียหายของภาคธุรกิจและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการและขาดรายได้ อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เกิดความเสียหาย

5. ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน

6. ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

7. ความผันผวนของค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าสูง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเกิดความกังวล โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าไทยที่อาจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

8. ความกังวลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความไม่สบายใจในการเตรียมความพร้อม

9. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 34.755 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 67 เป็น 33.356 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

 

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่

1. มาตรการความคืบหน้าของภาครัฐในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 เงิน 10,000 บาท เฟสแรกผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ที่พร้อมมอบให้ประชาชนผู้มีสิทธิในช่วงปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา

2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว รวมการขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยว

3. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

4. การส่งออกของไทยเดือน ส.ค. 67 ขยายตัว 7% มูลค่าอยู่ที่ 26,182.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 8.9% มีมูลค่าอยู่ที่ 25,917.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 264.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. SET Index เดือนก.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 89.76 จุด จาก 1,359.07 ณ สิ้นเดือน ส.ค. 67 เป็น 1,448.83 ณ สิ้นเดือน ก.ย. 67

6. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 1.10 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 34.88 บาทต่อลิตร และ 35.25 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา

 

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการแก้ไขปัญหา

– การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

– การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน และการบริหารจัดการน้ำในช่วงไตรมาสที่ 4/67 ปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าระดับปกติที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก จนทำให้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น

– เร่งดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี

– การส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ครอบคลุมรอบด้าน เช่น มาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากในประเทศ และต่างชาติ

– มาตรการควบคุมตลาดขายสินค้าออนไลน์ และปริมาณของสินค้าจีนที่เข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนก.ย. ต่ำสุดในรอบ 18-22 เดือน หรือแสดงให้เห็นว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจแย่ในรอบ 2 ปี และนโยบายการแจกเงิน 10,000 บาท ก็เหมือนยังไม่เห็นผล เนื่องจากคนยังกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมเป็นหลัก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top