Power of The Act: เมื่อนโยบายนำการกำกับดูแล RE Big Lot จึงเป็นโอกาสที่มาพร้อมความท้าทาย

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group ได้ประกาศผ่านเว็บไซด์ว่า EGCO Group เดินหน้าเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot) รอบที่ 2 ภายใต้ประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกว่า 10 โครงการ

ผู้เขียนเห็นว่าโครงการ RE Big Lot เป็นนโยบายที่น่าสนใจและมีส่วนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้าสีเขียว และการเปิดรอบรับซื้อไฟฟ้าในครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าทั้งสาม แสดงให้เห็นถึง “ทีมเวิร์ค” ที่ดี

แต่ขณะเดียวกันนโยบายและทีมเวิร์คนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อนโยบายและการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA

*อะไรคือ RE Big Lot ?

โดยสารัตถะแล้ว RE Big Lot คือ โครงการที่ “รัฐประกาศรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียน ตามปริมาณ และราคาที่รัฐกำหนด”

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ต้องย้อนไปถึงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่ง กพช. มีมติ “เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบที่มีการประกันราคารับซื้อ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565-2573 ซึ่งกำหนดว่ารัฐจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขนาดกำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ในรูปแบบสัญญา Non-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และในรูปแบบสัญญา Partial – Firm สำหรับ Solar+BESS โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบ FiT

บุคคลที่ประสงค์จะผลิตและขายไฟฟ้าสีเขียวดังกล่าวจะต้องยื่นความประสงค์ต่อการไฟฟ้าได้แก่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เพื่อพิจารณาคำขอรับซื้อ โดยจะใช้หลักเกณฑ์ การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะมีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ได้ตามแผนที่กำหนด ด้วยราคาที่ไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้ประเทศ โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding)

การไฟฟ้าฯ ในฐานะผู้รับซื้อและผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้ขาย ไม่อาจกำหนดราคาไฟฟ้าที่จะซื้อขายกันได้เอง แต่กระทรวงพลังงานจะเป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท และเป็นราคาที่จะไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องรับและปฏิบัติตามอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนด

อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565-2573 แยกตามประเภทเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้ (1) อัตรา FiT กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาดของก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เท่ากับ 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี (2) พลังงานลม เท่ากับ 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เท่ากับ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา รับซื้อไฟฟ้า 25 ปี และ (4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS กำลังผลิตตามสัญญามากกว่า 10 – 90 เมกะวัตต์ เท่ากับ 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี

อ้างอิงมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2565 กกพ. จึงได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565-2567 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (ระเบียบ กกพ. RE Big Lot ฉบับที่ 1) ซึ่งกำหนดว่า กกพ. จะจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงตามประเภทของการผลิต เป้าหมาย ปริมาณ และอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) และอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2565

ตามข้อ 9 ของระเบียบ กกพ. RE Big Lot ฉบับที่ 1 บุคคลที่ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าต่อ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. นั้นจะต้องเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือจดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อกิโลวัตต์ของปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย ตามคำเสนอขายไฟฟ้า ทั้งนี้ ตามข้อ 10 ของระเบียบดังกล่าว โครงการที่เสนอขายไฟฟ้าต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ลงทุนก่อสร้างใหม่ และไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่เคยได้รับการตอบรับซื้อจากการไฟฟ้า

ผู้ผลิตไฟฟ้าตาม ระเบียบ กกพ. RE Big Lot ฉบับที่ 1 ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อก่อสร้างหรือจัดให้มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นของตัวเอง หากแต่สามารถใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ได้ โดยข้อ 13 ของระเบียบ กกพ. RE Big Lot ฉบับที่1 นั้น กรณีประสงค์จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ให้ยื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับ กฟผ. ส่วนกรณีประสงค์จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ให้ยื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่จะเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้า

การแข่งขันยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าใน RE Big Lot รอบที่ 1 มีจำนวนผู้ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 175 ราย และมีจำนวนผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอในรอบที่ 1 ซึ่งผ่านเกณฑ์คะแนนด้านเทคนิคขั้นต่ำแล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ 1 จำนวน 198 ราย ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศสำนักงาน กกพ. เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. RE Big Lot ฉบับที่ 1) จึงหมายความว่า “คนที่มีความพร้อมแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก” เพราะจัดหาครบตามเป้าหมายแล้ว หรืออาจเรียกได้ว่า “มีคนผิดหวังโควต้าเต็ม”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มเติมอีก ดังนั้น กพช. จึงได้มีมติเห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มเติมในการประชุม กพช. ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อให้เป็นไปตามแผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ซึ่ง กพช. เห็นชอบหลักการคัดเลือกที่ว่าให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก

อ้างอิง มติ กพช. ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ในวันที่ 13 กันยายน 2567 กกพ. ได้ออก ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565-2567 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกพ. RE Big Lot ฉบับที่ 2) กำหนดเป้าหมายการรับซื้อเพิ่มเติม สำหรับประเภทพลังงาน ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก และสำหรับประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ เป็นลำดับที่สอง รวม 2,180 เมกะวัตต์ และกำหนดตามข้อ 3 ให้ “ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม” ซึ่งจำกัดเฉพาะผู้ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าตามระเบียบกกพ. RE Big Lot ฉบับที่ 1 ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก

*ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้นจากระบบ “โควต้า”

เมื่อ EGCO เป็นหนึ่งในผู้ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนด้านเทคนิคขั้นต่ำแล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ 1 EGCO Group จึงมีคุณสมบัติที่จะยื่นขอเสนอผลิตไฟฟ้าสำหรับ RE Big Lot รอบที่ 2 และพร้อมนำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกว่า 10 โครงการเข้าร่วมประมูล หาก EGCO ได้รับโควต้าการขายไฟฟ้าสีเขียวตามระเบียบ กกพ. RE Big Lot ฉบับที่ 2 ก็จะสามารถผลิตและขายไฟฟ้าสีเขียวเพื่อจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้

กล่าวได้ว่าผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกจะมีการผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อจ่ายหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวเข้าสู่ระบบโครงข่าย โดยมี กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เป็นผู้รับซื้อ และนำเอาไฟฟ้าสีเขียวดังกล่าวไปจำหน่ายต่อให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในตลาดค้าปลีกต่อไป เมื่อมีไฟฟ้าสีเขียวในระบบโครงข่ายไฟฟ้ามากขึ้นจากนโยบาย RE Big Lot จึงกล่าวได้ว่า นโยบายนี้ย่อมมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยมีระบบพลังงานที่มีศักยภาพมากขึ้นในการรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสงค์จะใช้ไฟฟ้าสีเขียว เช่น ผู้ประกอบการ Data Center ที่ประสงค์จะสร้างศูนย์ดังกล่าวในประเทศไทย

ซึ่งนายกรัฐมนตรีแพทองธารได้กล่าวกับนาง Ruth Porat และทีมจากบริษัท Google เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลว่า “รัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงการริเริ่มด้านพลังงานสะอาด และปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศทางดิจิทัลที่เจริญรุ่งเรือง โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อสร้างกลไกด้านพลังงานสะอาด อาทิ การทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) และการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น”

ข้อสังเกตสำคัญคืออุปสงค์และอุปทานไฟฟ้าสะอาดซึ่งเป็นพลวัตรเปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อนนั้นยังคงเป็นระบบที่มีรัฐเป็นผู้กำหนด ตามนโยบาย RE Big Lot นั้น การผลิตไฟฟ้าสะอาดจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ผลิตได้โควต้าจากรัฐเท่านั้น ผู้ผลิตซึ่งเป็นนิติบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนด และจะขายไฟฟ้าสีเขียวได้ตามสัญญาระยะยาวและราคาที่รัฐกำหนด ผู้ผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ได้ขายไฟฟ้าโดยตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสงค์จะใช้ไฟฟ้าสีเขียวหากแต่ต้องขายไฟฟ้าให้กับเจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) เพื่อให้การไฟฟ้าเอาไฟฟ้าสีเขียวดังกล่าวไปขายต่อในตลาดค้าปลีก

ในแง่ดี ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีการไฟฟ้าทั้งสามเป็นผู้ “คุมจังหวะ” การรับหน่วยไฟฟ้าจากตลาดผลิตและค้าส่งไฟฟ้าไปสู่การค้าปลีกหน่วยไฟฟ้า (หรืออาจเรียกได้ว่าต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ) น่าจะมีความมั่นคงเชื่อถือได้ (Reliability) เนื่องจากรัฐจะสามารถควบคุมปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่จะถูกจ่ายเข้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ทำสัญญาระยะยาวกับการไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดปัญหาจากความไม่สมดุล (Imbalance) ได้ และสามารถเรียกเก็บค่าบริการเพื่อความมั่นคงแน่นอนของระบบโครงข่ายจากผู้ผลิตได้

*RE Big Lot อาจเป็นอุปสรรคต่อ Direct PPA

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า RE Big Lot นั้นเป็นนโยบายคนละนโยบายกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) และอาจเป็นอุปสรรคต่อนโยบาย Direct PPA อีกด้วย

กล่าวโดยสรุป Direct PPA คือการที่ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง ผู้ผลิตไม่ได้ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เพื่อให้การไฟฟ้านำเอาไฟฟ้าไปขายต่อ การไฟฟ้าทั้งสามเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ให้บริการส่งผ่านไฟฟ้า (Wheeling Service) มีสิทธิเก็บค่าบริการระบบโครงข่าย และไม่ได้เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ในกรณีนี้ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐซึ่งรองรับสิทธิในการเชื่อมต่อและใช้ระบบโครงข่ายของบุคคลที่มิได้มีระบบโครงข่ายเป็นของตัวเองหรือ Third Party Access (TPA)

แน่นอนว่าการเปิดเสรีภาคพลังงานโดยเพิ่มบทบาทของเอกชนและเพิ่มสัดส่วนการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นสิ่งที่รัฐจะต้อง “กำกับดูแล” โดยหากปราศจากการกำกับดูแลที่รอบคอบและรัดกุมแล้ว ระบบพลังงานของประเทศอาจไม่มั่นคง และเกิดภาระต้นทุนที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับในท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่า กกพ. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลมีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่จะส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA โดยไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจของ กพช. ในการกำหนดนโยบาย

กกพ. มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 11(4) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 “กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งกำกับดูแลขั้นตอนการคัดเลือกให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” หากพิจารณาตามตัวบทแล้ว กกพ. ย่อมกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้าแบบ Direct PPA ได้ ไม่ได้จำเป็นต้องประกาศให้มีการยื่นขอรับโควต้าขายไฟฟ้าให้กับรัฐเท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่าระเบียบและหลักเกณฑ์เหล่านี้มิได้จำเป็นว่า กกพ. จะต้องกำหนดให้การไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าเท่านั้น ในมาตรา 11(4) เป็นฐานทางกฎหมายที่ทำให้ กกพ. ใช้อำนาจกำกับดูแลเพื่อรับเอานโยบาย RE Big Lot ตามมติ กพช. ได้แต่ขณะเดียวกันสามารถรองรับการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวระหว่างเอกชนโดยตรงได้ ไม่ได้หมายความว่า กกพ. จะต้องกำกับดูแลการจัดไฟฟ้าตามมติ กพช. เท่านั้น

แม้ว่ามาตรา 11(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 จะบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่า กกพ. มีอำนาจหน้าที่ต้องกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้ภายใต้กรอบ “นโยบายของรัฐ” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ามาตรา 11(1) มิได้จำกัดว่าการซื้อขายไฟฟ้าจะต้องเป็นไปตามมติ กพช. เท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรถูกตีความให้เกิดข้อจำกัดดังกล่าว ราคาไฟฟ้าสีเขียวในตลาดที่มีการแข่งขันนั้นเป็นไปตามสภาวะของตลาด อุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงได้ ราคาพลังงานจึงควรยืดหยุ่นและไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นราคาที่รัฐกำหนดให้เป็นตามสัญญาระยะยาว

การใช้บริการระบบโครงข่ายซึ่งจะมีต้นทุนมากขึ้นจากการบริหารจัดเพื่อให้เกิดความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบโครงข่ายไฟฟ้า และภาระจากการบริหารจัดการความผันผวนไม่แน่นอนของทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ซึ่ง กกพ. มีอำนาจกำหนดดูแลค่าบริการระบบโครงข่ายดังกล่าวให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ตามที่มาตรา 65(1) ซึ่งบัญญัติให้ กกพ. กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภทโดยสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ กฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าบริการระบบโครงข่ายที่เกิดจากการผลิตและขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA

หากศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้าของทั้งสามการไฟฟ้านั้น “ถูกจอง” ไว้เพื่อ RE Big Lot ตามโควต้าจนเต็มหรือเกือบเต็มแล้ว การผลิตและจ่ายหน่วยไฟฟ้าแบบ Direct PPA ซึ่งได้มีการซื้อขายกันตามรอบการรับซื้อหรือโควต้าที่รัฐกำหนดแล้ว ผู้ผลิตไฟฟ้าที่จะขายไฟฟ้าโดยตรงให้กับผู้ซื้อโดยไม่ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าอาจถูกการไฟฟ้าซึ่งเป็นเจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้าปฏิเสธการขอเชื่อมต่อและใช้ระบบโครงข่ายเพื่อ Direct PPA ตามข้อกำหนดระบบโครงข่าย (Grid Code) เนื่องจากโครงข่ายไม่มีศักยภาพเหลือแล้ว (Grid Capacity)

ตามมาตรา 81 การเชื่อมต่อและใช้บริการระบบโครงข่ายนั้นจะต้องเป็นไปตาม ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้บริการระบบโครงข่ายพลังงาน และข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติการระบบโครงข่ายพลังงาน ซึ่ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. มีอำนาจประกาศ ข้อกำหนดเหล่านี้สามารถถูกพัฒนาให้รองรับได้ทั้งการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าตามระบบโควต้า และรองรับการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA โดย กกพ. แม้ไม่ได้มีอำนาจออกข้อกำหนดระบบโครงข่ายเองแต่มีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตที่ออกข้อกำหนดดังกล่าวแก้ไขหรือปรับปรุงข้อกำหนดให้เป็นไปตามหลักการตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ได้

โดยสรุป องค์กรผู้กำหนดนโยบายพลังงาน (Policy Maker) องค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการ (Regulator) และหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงาน (Operator) ควรทำงานร่วมกันอย่างไม่ขัดแย้งกัน แต่ก็จะต้องมีความเป็นอิสระจากกัน นโยบาย RE Big Lot นับได้ว่าเป็นหมุดหมายที่ดีที่แสดงถึงความพร้อมด้านนโยบายและกฎระเบียบที่รองรับไฟฟ้าสีเขียว

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวแบบกระจายศูนย์ในปัจจุบันนั้นไม่ควรถูกจำกัดเฉพาะรูปแบบที่มีการกำหนดการรับซื้อและควบคุมราคาโดยรัฐเท่านั้น

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top