ปมร้อน!! “ดิ ไอคอน” ขึ้นท็อปเทรนด์โซเชียล คนบันเทิงระส่ำ

ประเด็นร้อนในโลกออนไลน์วันนี้ชาวโซเชียลแห่ติดแฮชแท็ก #Theicon หรือ #ดิไอคอน หลังพิธีการรายการโทรทัศน์ชื่อดังเตรียมแฉ กรณีดาราดังระดับตัวท็อปร่วมเป็นผู้บริหารบริษัทและเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งถูกระบุว่าเข้าข่ายหลอกลวงลงทุน ด้วยการเชิญชวนมาเข้าเรียนคอร์สออนไลน์ จากนั้นโน้มน้าวให้ขายสินค้าต่อ ล่าสุดมีผู้เสียหายออกมาแสดงตัวหลายราย คาดว่ามูลค่าความเสียหายคงมีจำนวนไม่น้อย

วันนี้ “อินโฟเควสท์” จะพาไปทำความรู้จักกับ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (THE iCON GROUP) บริษัทสอนทำธุรกิจออนไลน์ ที่ก่อตั้งโดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือที่เรียกกันในนาม บอสพอล เจ้าของวลีเด็ด “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย”

นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารคนสำคัญเป็นคนในวงการบันเทิงที่เคยเปิดตัวกันอย่างเป็นทางการ คือ นายกันต์ กันตถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด, น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี (มิน) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร และนายยุรนันท์ ภมรมนตรี (แซม) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีพรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราชื่อดังอีกหลายราย

ข้อมูลจาก THE ICON GROUP ระบุว่า เป็นธุรกิจขายของออนไลน์อันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยใช้ระบบดร๊อปชิพ ไม่ต้องสต็อกสินค้า ไม่ต้องแพคสินค้า ไม่ต้องออกไปส่งของเอง และสามารถซื้อขายผ่านมือถือเพียงเครื่องเดียวด้วยระบบ e-payment gateway ภายใต้สินค้า BOOM โดยมีสินค้าอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาทิ BOOm Collegen BOOM toothpaste iCON Face serum เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบสอนขายของออนไลน์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนถึงขั้นมืออาชีพ

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัทขายของออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ก่อนขยับสู่ 50 ล้านบาทเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563

– ปี 2562 มีรายได้รวม 322.67 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.9 ล้านบาท

– ปี 2563 มีรายได้รวม 378.12 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9.04 ล้านบาท

– ปี 2564 มีรายได้รวม 4.95 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 813.44 ล้านบาท

– ปี 2565 มีรายได้รวม 3.07 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 188.08 ล้านบาท

– ปี 2566 มีรายได้รวม 1.89 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 19.77 ล้านบาท

กลยุทธ์การทำตลาดของทางบริษัทมีการจ้างดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ คนดัง ลงโฆษณาตามช่องสื่อหลัก พร้อมโชว์ยอดขายและความสำเร็จผ่านการโชว์รถหรูซุปเปอร์คาร์เพิ่มความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างตัวแทน-โค้ช ที่สามารถทำยอดจากการขายออนไลน์ จนได้เงินทองและรถหรูเป็นรางวัลเพียบ

นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ “ทนายเดชา” ได้ออกมาให้ความเห็นในเคสนี้ผ่านรายการโทรทัศน์ว่า ลักษณะของธุรกิจเริ่มต้นด้วยโฆษณาชวนเชื่อ เก็บเงิน 89 บาท และยิงโฆษณา มีคนมาเป็นวิทยากรชักชวนจูงใจให้ซื้อของ และชวนให้เปิดบิล ให้ไปขายอ้างว่าสินค้าขายดี ใช้ดาราเป็นพรีเซนเตอร์สร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้า พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยเคสนี้คล้ายกับกรณี Forex-3D ที่ใช้ความเป็นดารามาเป็นผู้บริหาร และเป็นพรีเซนเตอร์ มาสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งในส่วนของดาราผู้ที่มีตำแหน่งในบริษัทนั้นก็ถือว่าร่วมกระบวนการ

ในลักษณะแบบนี้อาจถูกดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่ ตามพ.ร.บ.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นการโฆษณาหลอกลวงประชาชนให้มาร่วมลงทุน และให้ผลประโยชน์ตอบแทน นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนมาตรา 343

“กฎหมายแชร์ลูกโซ่ เพียงแค่โฆษณาชวนเชื่อ และปกปิดความจริง บอกไม่หมด ออกรายการดัง ๆ บอกแค่ชวนไปเรียนยิงโฆษณา แต่พอไปเรียนจริงก็มีอย่างอื่นเสริมเข้ามา คือการปิดบัง หลอกล่อ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าจริง หรือลูกค้าปลอม บริษัทฯ ก็รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าสินค้าไม่ได้ดี ไม่ได้ขายดีอย่างที่ยืนยัน” นายเดชา กล่าว

เหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ไม่กลายเป็นประเด็นใหญ่ แม้จะผ่านมาแล้วหลายปี นายเดชา กล่าวว่า มาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. มีอิทธิพลทางสื่อ เท่าที่ทราบคือมีการจ่ายโฆษณาตามสถานีโทรทัศน์ช่องดัง รายการดัง ทำให้เห็นว่ามีอิทธิพลสื่อ ช่องไหนที่รับเงินไปก็ไม่กล้าแฉเพราะเป็นสปอนเซอร์ 2. เป็นคนในวงการบันเทิงด้วยกัน พวกเดียวกัน และ 3. สคบ. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ. ขายตรง หน้าที่โดยตรงแต่ยังเฉย และยังไปมอบรางวัลให้ด้วย ส่วนตำรวจเป็นปลายทาง ต้องเริ่มจาก สคบ. ไปแจ้งความก่อน

ขณะที่โลกโซเชียลมีการคอมเมนต์ในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง โดยตั้งข้อสงสัยว่าป็นการหลอกมาร่วมทำธุรกิจขายฝันหรือไม่ เพราะ โมเดลธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ลูกข่าย แม่ข่ายอาหารเสริม ขายคอร์ส ใช้ดาราดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ เป็นโมเดลที่คุ้นเคยและใช้กันอย่างหลากหลาย เพราะคนไทยเชื่อถือคนดังและภาพความมั่งคั่งร่ำรวย พร้อมทั้งถามหาความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top