อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) ขอเชิญชวนให้องค์กรทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตที่ดีและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาของบุคลากร เมื่อโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การระบาดของโรค และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สุขภาพจิตของพนักงานกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องใส่ใจ
ธีมวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ปีนี้คือ “สุขภาพจิตในที่ทำงาน” (Mental Health at Work) เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญให้องค์กรต่าง ๆ ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงาน
วิกฤตการณ์โลกที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ประกอบกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ระดับความเครียดและความวิตกกังวลพุ่งสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมปัญหาสุขภาพจิตของแรงงานทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จะมีผู้ใหญ่วัยทำงานประมาณ 15% ที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต
นอกจากนี้ ข้อมูลความช่วยเหลือของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสุขภาพจิต 5 อันดับแรกที่พนักงานขอรับความช่วยเหลือมากที่สุด ได้แก่
1. ความวิตกกังวล
2. โรคซึมเศร้า
3. โรคแพนิค
4. โรคสมาธิสั้น (ADHD)
5. ความเครียดเฉียบพลัน
ภาวะหมดไฟก็เป็นอีกปัญหาสำคัญของพนักงาน โดยพนักงาน 1 ใน 4 ทั่วโลกรายงานว่ามีอาการหมดไฟ รายงานประเมินแนวโน้มความเสี่ยง ประจำปี 2567 จากอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Risk Outlook 2024) ชี้ว่า ภาวะหมดไฟของพนักงานเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร
นอกจากนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ WHO ประเมินว่าทั่วโลกต้องสูญเสียวันทำงานไปประมาณ 1.2 หมื่นล้านวันต่อปีเนื่องจากภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลให้สูญเสียผลิตภาพคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำถึงความสำคัญที่นายจ้างต้องสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี และชี้ให้เห็นถึงต้นทุนมหาศาลที่จะต้องจ่าย หากมีการละเลยปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงาน ด้วยเหตุนี้ องค์กรต่าง ๆ จึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของสุขภาพจิตด้วยการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมสุขภาวะของพนักงาน
ดร. แคทเธอรีน โอไรลี ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ประจำภูมิภาคของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า “วันสุขภาพจิตโลกเป็นเครื่องเตือนใจให้องค์กรต่าง ๆ เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงานมีอิทธิพลอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงาน ทั้งในทางบวกและทางลบ โดยที่ทำงานอาจจะส่งเสริมสุขภาวะ หรือมิฉะนั้นก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล เช่นเดียวกับที่เราลงทุนในด้านความปลอดภัยทางกายภาพของพนักงาน เราต้องตระหนักด้วยว่าสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญของสุขภาพโดยรวม ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของจิตใจในการรับมือกับปัญหา”
“องค์กรต่าง ๆ สามารถเสริมศักยภาพให้พนักงานรับมือกับความท้าทาย การเติบโตและก้าวหน้า และมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เป็นบวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนกัน ส่งเสริมการสื่อสารอย่างเปิดเผย ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต บริการให้คำปรึกษา และโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าพนักงานมีความพร้อมที่จะรับมือกับความซับซ้อนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน”
อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ขอแนะนำองค์กรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงาน ดังนี้
1. ปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานที่เกื้อหนุนกัน โดยเริ่มจากความมุ่งมั่นของผู้บริหาร: สร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย ดูแลให้แนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตสอดคล้องกับนโยบายที่เกี่ยวข้องและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ อย่างราบรื่น เพื่อให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง
2. จัดเตรียมทรัพยากรที่สามารถเข้าถึงได้: จัดเตรียมชุดเครื่องมือด้านสุขภาพจิตที่พนักงานสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงชุดคู่มือหรือแนะแนวด้วยตนเอง
3. ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว: เสนอรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานทางไกล เพื่อช่วยให้พนักงานบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้พนักงานได้หยุดพักอย่างสม่ำเสมอ และให้พนักงานเป็นผู้กำหนดลำดับความสำคัญของสุขภาวะของตนเอง
4. การฝึกอบรมและให้ความรู้: ดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมเพื่อลดการตีตรา จัดการฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตเพื่อให้ทุกคนรับรู้ เข้าใจ และช่วยเหลือในประเด็นที่เกี่ยวกับความท้าทายด้านสุขภาพจิต
5. ติดตามและประเมินผล: ติดตามสอบถามความคิดเห็นและคอยเฝ้าระวังสุขภาพจิตของพนักงานอย่างต่อเนื่องผ่านการทำแบบสำรวจและแบบประเมิน เพื่อปรับโปรแกรมตามความจำเป็น
6. ลงทุนในด้านสุขภาวะทางอารมณ์: จัดให้มีกิจกรรมในการฝึกสติการรับรู้และการจัดการความเครียด ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ได้รับการรับรองเพื่อให้บริการให้คำปรึกษาและสนับสนุนอย่างเป็นความลับ
7. โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Programs หรือ EAPs): จัดให้มี EAPs ที่ให้คำปรึกษาที่เป็นความลับและบริการสนับสนุนแก่พนักงาน ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานทราบถึงบริการและประโยชน์ของ EAPs เพื่อส่งเสริมให้พนักงานกล้าขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องกลัวการถูกตีตรา เสริมสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 67)
Tags: International SOS, บุคลากร, พนักงาน, ภูมิรัฐศาสตร์, สุขภาพจิต, อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส