นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.54 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.47 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขณะที่ราคาน้ำมันและทองปรับตัวลดลง หลังตลาดคลายกังวลต่อสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลาง
ส่วนปัจจัยในประเทศ ตลาดรอดูทิศทางของเงินทุนระหว่างประเทศ (Flow) ในตลาดหุ้นและพันธบัตร รวมถึงการนำเข้าทองและน้ำมันหลังราคาปรับตัวลดลง
“บาทเปิดตลาดอ่อนค่าตามตลาดโลก เมื่อคืนน่าจะมี Flow จากการซื้อทองหลังราคาร่วงลงกว่า 30 ดอลลาร์ และราคาน้ำมันลดลงด้วย หลังมีข่าวการเจรจาหยุดยิง”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.40 – 33.65 บาท/ดอลลาร์
*ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 148.12 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 147.89 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0974 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0991 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.535 บาท/ดอลลาร์
- รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเร่งพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาเห็นชอบต่อไป
- ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” เลื่อนขอ ขยายเวลาแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่ หลังฝ่ายเลขานุการขอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อให้รอบคอบที่สุด จับตาเสนอ 9 รายชื่อ “กิตติรัตน์” นั่งประธาน เสนอชื่อ “กุลิศ-สุรพล” เป็นกรรมการ “คลัง” ปัดตอบการเมืองแทรกแซง
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (8 ต.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (8 ต.ค.) โดยตลาดยังคงถูกกดดันจากการที่นักลงทุนลดความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนส.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 3.2% เช่นกันในเดือนส.
ค. - นักลงทุนลดความคาดหวังที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงเกินคาด โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 87% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ย. และให้น้ำหนัก 13.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 0.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- ตลาดจับตารายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 17-18 ก.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 67)
Tags: FX, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท