นายกฯ เตรียมตั้งคกก.ซอฟต์พาวเวอร์ชุดใหม่ เดินหน้าผลักดันเต็มตัว

นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรี จะแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากคำสั่งเดิมสิ้นสุดไปตามวาระของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี

“ตอนนี้เสนอนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ไม่รู้ว่าท่านจะลงนามก่อนไปประเทศลาวหรือไม่ เพราะเลขาธิการนายกส่งให้นายกฯ ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ น่าจะได้ภายในสัปดาห์นี้” นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการฯ จะมีกรรมการเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เพราะก่อนหน้านี้บางอุตสาหกรรมยังไม่ได้เน้นชัดเจน เช่น จะมีรมว.สาธารณสุข มีเลขาคณะกรรมการอาหารและยา กรมการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกเข้ามาร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องกับ Wellness ต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมและวางแผนกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องดนตรี จะเห็นโมเมนตัมที่เกิดขึ้นมากในปี 68 เช่น เทศกาลดนตรีระดับโลกจะเกิดขึ้นแน่นอน และ Music Award ก็ได้มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าจะได้เห็นแน่นอน

ทั้งนี้ นอกเหนือจากดนตรีแล้ว อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเรือธง ทั้งมวยไทย อาหารไทย ภาพยนตร์ไทย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวนมาก ก็จะได้เริ่มเห็นความชัดเจนในการขับเคลื่อนมากขึ้น

“ยืนยันว่าโมเมนตัมที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 67 นี้ จะได้เห็นชัดเจนในปี 68 แน่นอน อย่างเรื่องที่ได้เริ่มต้นไปแล้ว เช่น งาน THACCA SPLASH ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ในปีหน้าจะไม่เหมือนปีนี้ จะยิ่งใหญ่กว่ามาก หรืองาน Maha Songkran World Water Festival ก็จะมีการเตรียมการล่วงหน้าแน่นอน เรื่อง Soft Power จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มากในปี 68 นายกฯ บอกว่าเรื่อง Soft Power ให้เดินหน้าแบบเต็มตัว จะเห็นโมเมนตัมในปีนี้ ถึงปีหน้าแน่นอน” นายสุรพงษ์ กล่าว

ในส่วนของกระแส “หมูเด้ง” ที่มาแรง รัฐบาลจะหยิบยกมาเป็น Soft Power หรือไม่นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หมูเด้งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และไม่สามารถว่าจะเป็นกระแสไปอีกนานเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้เป็นกระแสที่เกิดจากการวางแผน และการจะสนับสนุนเงินต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนสามารถเข้าไปร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่แล้ว ในส่วนของรัฐบาลจะมุ่งเน้นการมองเชิงระบบ และอุตสาหกรรมที่สามารถวางแผนให้เกิดการพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน

ในส่วนของโครงการ Music Exchange จะเป็นการนำศิลปิน เทศกาลดนตรีของไทยไปสู่ระดับโลก ซึ่งมีทั้ง put และ pull ในขั้นแรกคือการนำพาศิลปินไทยไปสู่เทศกาลดนตรีทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้ความสามารถและพรสวรรค์ของศิลปินไทยที่มีอยู่แล้ว ได้มีโอกาสไปแสดงให้เห็นในเวทีโลกได้ และจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเติบโตทางอาชีพดนตรีได้เห็นรุ่นพี่ไประดับโลก ส่วนการนำพาศิลปิน หรือธุรกิจต่างชาติมาเทศกาลดนตรีในไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้ซึมซับ เรียนรู้ ได้เห็นความสามารถ และนำมาต่อยอดได้

ทั้งนี้ ดนตรีถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะต่อยอด Soft Power ของไทยได้ นอกเหนือจากอาหารไทย มวยไทย และภาพยนตร์ไทยแล้ว มองว่าดนตรีไทยได้มีการเติบโตแบบธรรมชาติ นักดนตรีไทยจำนวนไม่น้อยมีโอกาสไปแสดงความสามารถในระดับโลก คนไทยหลายคน เช่น “ลิซ่า” แม้จะไม่ได้อาศัยกระบวนการสนับสนุนของไทย แต่สะท้อนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความสามารถในสายเลือด ซึ่งหากได้รับการสนับสนุน ได้รับโอกาส ก็สามารถไปแสดงความสามารถในระดับโลกได้ และหากศิลปินไทยไประด้บโลกได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำพา Soft Power อื่น ๆ ทั้งแฟชั่น อาร์ตทอยของไทยจะมีโอกาสไประดับโลกได้เช่นกัน

ในส่วนของการพัฒนาศิลปิน รัฐบาลต้องการให้มีการ Upskill Re-skill ศิลปิน ทำให้ศิลปินไทยมีโอกาสในการเรียนรู้จากศิลปินระดับโลก หรือผู้เชี่ยวชาญ เช่น จะมีหลักสูตรเชิญผู้เกี่ยวข้องในวงการบันเทิงจะมาฝึกอบรมให้วงหารบันเทิงไทย

สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีของไทยในปี 66 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมองว่าหลังจากนี้ไทยมีโอกาสที่จะไปได้ไกลอีกเรื่อย ๆ เนื่องจากยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่มีความสามารถ ซึ่งหากระบบแข็งแรงจริง จะทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมเพลง ดนตรี ไปสู่มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top