นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส มอง SET Index ไตรมาส 4/67 มีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะ 1,523 จุด รับเงินทุนต่างชาติไหลเข้า แม้ปัจจุบันต่างชาติยังคงทยอยขายสุทธิต่อเนื่องหลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่คาดเริ่มเห็นไหลกลับเข้ามาตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.นี้เป็นต้นไป เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ราว 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐหากพรรคเดโมแครตชนะก็จะเป็นปัจจัยหนุนอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เศรษฐกิจไทย (GDP) ปลายปีนี้มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น เฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวราว 2.6% จากการที่รัฐบาลเตรียมอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนภาครัฐ ซึ่งก็จะตามมาด้วยการลงทุนของภาคเอกชน และการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ หนุน SET ขยับขึ้นต่อ
และยังคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง หรือราว 27% YoY และ 11% HoH โดย Bloomberg Consensus ประเมิน EPS ปี 67 ที่ 91.5 บาท/หุ้น หรือคิดเป็นการเติบโตที่ 13%
“Fund Flow ต่างชาติ, เม็ดเงินวายุภักษ์, ThaiESG เกิน 1.7 แสนล้านบาท จะเป็นส่วนสำคัญช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/67 ให้มีโอกาสผันผวนน้อยลง”นายเทิดศักดิ์ กล่าว
ส่วนปี 68 มองว่า SET Index มีโอกาสปรับขึ้นไปแตะ 1,700 จุด ประเมิน ESP ไว้ที่ 102.7 บาทต่อหุ้น ภายใต้ดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดลง 2 ครั้ง แต่หาก กนง.ลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวที่อาจจะทำให้ดัชนี SET ขึ้นไปที่ 1,633 จุด
เอเซีย พลัส เชื่อว่าเงินทุนต่างชาติไหลเข้ายังจะเป็นแรงหนุนอย่างต่อเนื่อง จากโทนดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาลง โดยสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย (NVDR) ปัจจุบันอยู่ในระดับ 5% ซึ่งยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 7% เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยถูก Underweight แต่ด้วย Earnings growth และ GDP ที่คาดโต 3% จะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้า
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่ง กำไรปีหน้าเติบโต และมี ESG Rating สูง อาทิ BEM, GPSC, AOT, AP, BJC, PLANB, CBG
นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ ผู้อำนวนการฝ่ายกลยุทธ์หุ้นต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส มองในช่วงไตรมาส 4 นี้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุน Sentiment ต่อตลาดหุ้น ทั้งในส่วนของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะมีประชุมในวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งน่าจะรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นไปก่อน ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันจาก Unwind carry trade ลงได้ รวมทั้งแรงหนุนจากการคาดการณ์ของตลาดที่มองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 17 ต.ค. หลังตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าคาด
นอกจากนี้ การที่เฟดทำให้ตลาดเชื่อมั่นได้ว่าจะนำพาเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ Soft landing ได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งในอดีตดัชนี S&P500 จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ถึง 15% ในระยะ 3-6 เดือนหลังเฟดลดอัตราดอกเบี้ย
แนะติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนหลังผ่านช่วง Golden Week รวมทั้งความคืบหน้าในรายละเอียดของมาตรการ Stock purchase และ Stock buyback ทั้งนี้ หากทางการจีนมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่เพิ่มเติม (โดยเฉพาะภาคการคลัง) อาจทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะกลาง และทำให้มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น คาดว่าเห็นการทยอยปรับประมาณการGDP ของจีน และผลประกอบการ (Earnings) ขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ตลาดปรับขึ้นจากความคาดหวังเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญต่อตลาดจีนในระยะอันใกล้นี้คือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากนาย Donald Trump ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจะสร้างความกังวลต่อสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น
แนะนำทยอยสะสมหุ้นที่มีพื้นฐานดี รวมทั้งหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
น.ส.ลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง คาดตลาดตราสารหนี้ในช่วงไตรมาส 4/67 Yield curve ของไทยยังจะมีการเคลื่อนไหวแบบ side-way down จากการสำรวจของ ThaiBMA ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่ามีโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในปีนี้ อาจเป็นรอบเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาเริ่มเห็น Flow การเข้าซื้อหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้นเกือบ 48,000 ล้านบาท นักลงทุนส่วนใหญ่ยังถือว่าตราสารหนี้ในตลาดเป็นทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัย
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ เพิ่ม Duration การลงทุนในตราสารหนี้ให้ยาวขึ้น เช่น 5-10ปี โดย Duration คืออายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าปัจจุบันของกระแสดอกเบี้ยรับที่จะได้ในอนาคต ซึ่งนักลงทุนจะได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนในตลาดปรับตัวลดลง หรือกล่าวได้ว่ามีโอกาสขายทำกำไรได้ในอนาคตนั่นเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 67)
Tags: SET, ตลาดหุ้นไทย, หุ้นไทย, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, เอเซีย พลัส