นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์แม่น้ำปิงในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ ณ สถานี P.1 สะพานนวรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.22 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 48 เซนติเมตร และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำที่เข้าท่วมในเขตตัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจลดลงเกือบทุกพื้นที่แล้ว คงมีพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมขังเพียงบางแห่ง
สำหรับมวลน้ำที่ล้นตลิ่งแม่น้ำปิงได้ไหลต่อเนื่องเข้าสู่พื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำเฉลี่ย 10-30 เซนติเมตร บริเวณลึกสุดประมาณ 1 เมตร มีพื้นที่ท่วม 74 หมู่บ้าน 12 ตำบล โดยได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือ 74 เครื่อง เริ่มเดินเครื่องแล้วบางส่วนแล้ว ขณะที่ อ.เมือง จ.ลำพูน ระดับน้ำเริ่มคงที่ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 15-30 เซนติเมตร โดยจุดที่ลึกที่สุด 60 เซนติเมตร ปัจจุบันใช้เครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง เร่งระบายสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง โดยทั้ง 2 จุดคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน
“ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำปิงที่ไหลผ่าน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน เริ่มคงที่และค่อยๆ ลดระดับลง สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การสูบน้ำท่วมขังลงสู่ลำน้ำปิง เพื่อเร่งระบายน้ำลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้ยังมีศักยภาพในการรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก” นายจิรายุ กล่าว
ขณะที่พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.นั้น ขณะนี้ที่ประชุมได้พยายามให้มีการบริหารจัดการน้ำ โดยให้พิจารณาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่เริ่มมีแนวโน้มลดระดับลง หากไม่มีฝนใหม่มาเติมในช่วงนี้ คาดว่าจะสามารถคงอัตราการระบายน้ำในระดับ 2,200 ลบ.ม./วินาทีอีกสักระยะ และหากน้ำเหนือเขื่อนลดลงก็จะสามารถปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงได้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี ที่เริ่มมีน้ำเข้าท่วมชุมชนริมแม่น้ำบางแห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำและไม่มีแนวป้องกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 67)
Tags: กรมชลประทาน, จิรายุ ห่วงทรัพย์, น้ำท่วม, ลำพูน, อุทกภัย, เชียงใหม่, แม่น้ำปิง