ธนาคารกสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (7-11 ต.ค.) ไว้ที่ระดับ 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย.ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองผู้บริโภคเดือนต.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อ 17-18 ก.ย. และสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดด้วยเช่นกัน
โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ก.ย.-4 ต.ค.) เงินบาทพลิกอ่อนค่าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ หลังทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนในช่วงปลายเดือนก.ย. โดยเงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนที่ 32.14 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 0.25%
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกทยอยอ่อนค่าไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ระดับ 33.24 บาท/ดอลลาร์ฯ (อ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ 20 ก.ย.67) ตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย และสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ประกอบกับมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด (อาทิ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนรายงานโดย ADP และดัชนี ISM ภาคบริการเดือนก.ย.) และจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
โดยวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.67 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.04 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.40 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ก.ย.67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-4 ต.ค.67 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 11,829 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 14,184 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 14,179 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 67)
Tags: Forex, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท