“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ” ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจาก “ดิจิทัล วอลเล็ต” ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 ในช่วงวันที่ 25 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567 เพื่อฟังเสียงประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ต่อนโยบายดังกล่าว
พบว่า ความคิดเห็นของประชาชนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 51.8% ส่วนใหญ่กังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะในอนาคตและผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง นอกจากนี้ยังมองว่าการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ในขณะที่กลุ่มที่เห็นด้วยกับนโยบายมีสัดส่วน 33.2% มองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริงและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและร้านค้าท้องถิ่นได้รับประโยชน์ ส่วนกลุ่มที่มีความเห็นเป็นกลางมีสัดส่วน 15% เสนอให้มีการปรับปรุงระบบการคัดกรองและติดตามประเมินผลนโยบายอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่นในการช่วยเหลือประชาชน เช่น การสร้างงาน หรือพัฒนาทักษะซึ่งยั่งยืนกว่าในการยกระดับชีวิตประชาชน
ในแง่ของการใช้จ่าย ข้อมูลจากดาต้าเซ็ตพบว่าประชาชนส่วนใหญ่วางแผนจะนำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด คิดเป็น 47.8% รองลงมาคือนำไปชำระหนี้สิน 17.4% และลงทุน 9.6% นอกจากนี้ยังมีการวางแผนนำเงินไปใช้ในด้านการรักษาพยาบาลและซ่อมบำรุงบ้าน 8.7% และอื่นๆ อีก 16.5%
แม้ว่าความคิดเห็นจะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญคือความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย การเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงาน และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนานโยบายให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการให้ด้วยเงินสด หรือเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตก็ตาม ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสังคม ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและผลกระทบระยะยาวต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 67)
Tags: DXT360, Social Listening, กระตุ้นเศรษฐกิจ, ดาต้าเซ็ต, ดิจิทัลวอลเล็ต, เงินดิจิทัล, เศรษฐกิจไทย