ทาเคชิ อิวายะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของญี่ปุ่น แสดงความคิดเห็นในวันนี้ (2 ต.ค.) ว่า แนวคิดเรื่อง “นาโตแห่งเอเชีย” (Asian NATO) ที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นได้เสนอนั้น ควรถือเป็นวิสัยทัศน์ระยะกลางถึงระยะยาว ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลายประเทศในเอเชียได้ตั้งข้อกังขาและลังเลต่อข้อเสนอของชิเงรุ อิชิบะ นายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.)
อิวายะแถลงข่าวที่กรุงโตเกียวว่า “ผมมองว่านี่เป็นแนวคิดหนึ่งสำหรับอนาคต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน และเพื่อเสริมสร้างการป้องปรามในภูมิภาค
“การจัดตั้งกลไกที่จะกำหนดพันธะในการป้องกันร่วมกันในเอเชียโดยทันทีนั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงควรมองว่าเป็นวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตมากกว่า” อิวายะเสริม
ก่อนหน้านี้ ในเอกสารที่เสนอต่อสถาบันคลังสมองฮัดสัน (Hudson Institute) เมื่อเดือนก.ย. อิชิบะได้เสนอแนวคิดในการผูกมัดสหรัฐฯ ไว้ใน “นาโตแห่งเอเชีย” โดยมองว่าเป็นวิธีหนึ่งในการยับยั้งจีนจากการใช้กำลังทหารในภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับที่แตกต่างกันไปจากประเทศต่าง ๆ โดยเมื่อวันอังคาร สุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้แสดงความเห็นว่า อินเดียไม่ได้มีวิสัยทัศน์เดียวกันกับแนวคิด “นาโตแห่งเอเชีย” โดยชี้แจงว่าอินเดียไม่เคยเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศใดมาก่อน และมีแนวทางที่แตกต่างออกไป
ทางด้านสหรัฐฯ เองก็ดูเหมือนจะไม่ได้ให้การสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างเต็มที่ โดยแดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้
เมื่อถูกถามในการแถลงข่าวว่าแนวคิดนี้มุ่งเป้าไปที่จีนหรือไม่ อิวายะได้ชี้แจงว่า กรอบความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
“วิธีที่ดีที่สุดคือการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคงที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยไม่กีดกันประเทศใดเป็นการเฉพาะ” อิวายะกล่าว
ขณะเดียวกัน เกน นาคาทานิ รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของญี่ปุ่น ได้แถลงข่าวแยกต่างหากว่า นายกฯ อิชิบะไม่ได้มีการสั่งการให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการตามข้อเสนอในการจัดตั้งองค์กรที่เทียบเท่ากับนาโตในเอเชียแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 67)
Tags: ญี่ปุ่น, นาโตแห่งเอเชีย