ฝ่ายสื่อสารองค์กร และ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความเรื่อง “กองทุน Thai ESG ใหม่ : ก.ล.ต. ยกระดับ บจ.-บลจ. โปร่งใส” ระบุว่า ใกล้สิ้นปีแล้ว เชื่อว่าผู้ลงทุน ประชาชนทั่วไป จะเริ่มมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากการซื้อประกันในประเภทต่าง ๆ ที่นำมาช่วยประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กองทุนรวมก็เป็นหนึ่งตัวเลือกที่หลาย ๆ คนนิยมลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันไทยมีกองทุนรวมที่เป็นเครื่องมือช่วยประหยัดภาษีมีอยู่ 3 ประเภท คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ที่กำลังจะหมดอายุในสิ้นปี 2567 และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งแต่ละกองทุนต่างมีความน่าสนใจและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน
แต่ที่น่าสนใจในมุมของสิทธิประโยชน์ทางภาษีและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าว คงหนีไม่พ้น Thai ESG ที่กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ตลท. ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับเงื่อนไขใหม่ของกองทุนรวมดังกล่าวเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยที่กระทรวงการคลังได้พิจารณาเพิ่มวงเงินลงทุน สำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 1 แสนบาทต่อคนต่อปี เป็น 3 แสนบาทต่อคนต่อปี สำหรับปีภาษี 2567-2569 และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลมาตรการนี้อีกครั้งเมื่อสิ้นสุดปี 2569
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของ Thai ESG โดย Thai ESG ขยายขอบเขตการลงทุนให้กว้างขึ้น ส่งผลให้ Thai ESG สามารถจัดสรรเงินลงทุนไปยังกิจการไทยที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในระดับดีเลิศได้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในส่วนของการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีธรรมาภิบาล (Governance) ในระดับดีเลิศ จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ดังนี้ด้วย
1.มีธรรมาภิบาลที่ดีเลิศ โดยได้รับ CGR ซึ่งจัดทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 90 คะแนนขึ้นไป
2.มีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate value up plan) เช่น บริษัทที่มีแผนยกระดับด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
3.มีการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับผู้ลงทุน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม SET Opportunity day กับผู้ลงทุน/นักวิเคราะห์การเปิดเผยความคืบหน้าของแผน Value up เป็นต้น
ต้องบอกว่า การที่หลักเกณฑ์ใหม่ของ Thai ESG กำหนดให้ บจ. เปิดเผยแผนและเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate value up plan) โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันที่ได้เปิดเผยแผน เช่น แผนดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อเข้ารับการประเมินจากผู้ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล หรือการมีเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน เป็นต้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนที่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้ บจ. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับธรรมาภิบาล และมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ UN SDGs และเป็นไปตามเป้าประสงค์ของภาครัฐด้วย
หลักเกณฑ์ใหม่ยังเสริมบทบาทหน้าที่ของ บลจ. ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน (fiduciary duty) ตั้งแต่การปรับปรุงให้ บลจ. มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกลยุทธ์การลงทุนเพื่อคัดเลือกทรัพย์สินที่มีคุณภาพเพื่อการลงทุนของ Thai ESG และมีกระบวนการในการบริหารจัดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible investment) รวมถึงการคัดเลือกผู้ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล (ผู้ประเมินฯ) ที่จะเป็นผู้คัดเลือกหุ้นที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (environment) และความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อการลงทุนของกองทุน Thai ESG โดยที่ผู้ประเมินฯ ก็จะต้องมีความน่าเชื่อถือด้วย กล่าวคือ เป็นตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) หรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระ
มาถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพรวมผลประโยชน์ของ Thai ESG ตามเงื่อนไขใหม่กันแล้ว โดย ก.ล.ต. มุ่งหวังว่า Thai ESG จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับธรรมาภิบาลและเพิ่มความน่าสนใจของกิจการในตลาดหลักทรัพย์ไทยควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมเป็นการลงทุนระยะยาวในตลาดทุน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวสำหรับผู้ลงทุน นอกเหนือจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 67)
Tags: Thai ESG, ก.ล.ต., กองทุนรวม, บจ., บลจ.