ชิเงรุ อิชิบะ ผู้นำพรรครัฐบาลญี่ปุ่น ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในการลงมติของรัฐสภาในวันนี้ (1 ต.ค.) สืบทอดตำแหน่งต่อจากฟูมิโอะ คิชิดะ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการเมือง เศรษฐกิจส่อเค้าไม่มั่นคง และภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่เพิ่มสูงขึ้น
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า อิชิบะ วัย 67 ปี ซึ่งเพิ่งคว้าชัยในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้รับการรับรองจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา การรับรองนี้เป็นการปูทางสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 ต.ค.นี้ แม้ว่าฝ่ายค้านจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้การลงมติในรัฐสภาวันนี้ต้องเลื่อนออกไปในนาทีสุดท้าย
อิชิบะ ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นคนนอกกระแสมาโดยตลอด คาดว่าจะเผชิญกับความท้าทายตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากต้องพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อพรรครัฐบาลที่เผชิญกับปัญหาอื้อฉาว และสมานรอยร้าวภายในพรรคที่ลึกลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่การเลือกตั้งผู้นำพรรค LDP
การตัดสินใจของอิชิบะในการประกาศจัดการเลือกตั้งแบบสายฟ้าแลบสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมองว่าการประกาศเมื่อวันจันทร์ (30 ก.ย.) ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ อย่างเป็นทางการนั้น เป็นการ “ไม่ให้เกียรติ” และ “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
ในวันเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ อิชิบะคว้าชัยอย่างท่วมท้น โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 291 เสียงจาก 461 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร และ 143 เสียงจาก 242 เสียงในวุฒิสภา คาดว่าเขาจะประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อการประชุมสมัยนี้สิ้นสุดลงในวันที่ 9 ต.ค.
สำหรับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี อิชิบะเลือกที่จะมอบตำแหน่งสำคัญอย่างรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมให้กับผู้สนับสนุนสองคนที่มีมุมมองคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของญี่ปุ่นในเวทีโลก นอกจากนี้ คาดว่าคู่แข่งบางคนที่พ่ายแพ้ให้อิชิบะในศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP จะได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน
ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำพรรค LDP ในความพยายามครั้งที่ห้า อิชิบะต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคงกับการลดความขัดแย้งภายในพรรค เขาได้มอบตำแหน่งที่ปรึกษาสูงสุดและรองประธานพรรคให้กับอดีตนายกฯ สองคน คือ ทาโร อาโสะ และโยชิฮิเดะ ซูงะ ตามลำดับ ซึ่งทั้งคู่ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อสมาชิกพรรค LDP
อิชิบะได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่คิชิดะดำเนินการไว้ ซึ่งเน้นการกระตุ้นการขึ้นค่าแรง นายกฯ คนใหม่ย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ญี่ปุ่นต้องส่งเสริมการเพิ่มค่าแรงอย่างจริงจัง เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ โดยกล่าวว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ควรคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไว้
ในด้านการป้องกันประเทศ อิชิบะต้องการผลักดันการจัดตั้งองค์กรความมั่นคงร่วมในลักษณะคล้ายนาโต (NATO) สำหรับประเทศเอเชีย ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน นอกจากนี้ เขายังแสดงความกระตือรือร้นที่จะทบทวนข้อตกลงญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เพื่อให้ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ทาเคชิ อิวายะ จะก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะที่เก็น นากาทานิ จะกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมอีกครั้ง โดยทั้งสองคนนี้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้อิชิบะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค LDP
โยชิมาสะ ฮายาชิ โฆษกรัฐบาลคนเดิมภายใต้การนำของคิชิดะ และหนึ่งในเก้าอดีตแคนดิเดตตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP จะยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป
อีกหนึ่งอดีตแคนดิเดต คัตสึโนบุ คาโตะ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข จะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคลัง อดีตข้าราชการกระทรวงการคลังรายนี้ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มรายได้ของประชาชนเป็นสองเท่าในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP โดยเน้นย้ำว่าการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องมาก่อนการฟื้นฟูสถานะทางการคลัง
เป็นที่คาดกันว่าอิชิบะจะแถลงนโยบายในวันศุกร์นี้ (4 ต.ค.) และหลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว การหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการคาดว่าจะเริ่มขึ้นในวันที่ 15 ต.ค.
วาระปัจจุบันของส.ส. จะสิ้นสุดลงในเดือนต.ค. 2568 โดยการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้จัดขึ้นในเดือนต.ค. 2564 ไม่นานหลังจากที่คิชิดะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีชุดคิชิดะลาออกทั้งคณะเพียงไม่นานก่อนที่อิชิบะจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
คิชิดะตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP อีกครั้ง หลังจากที่ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อกอบกู้คะแนนนิยมที่ร่วงหนัก อันเนื่องมาจากการเปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่างพรรค LDP กับโบสถ์แห่งความสามัคคี (ลัทธิมูน) ที่มีข้อครหา และกลุ่มภายในพรรคที่แอบสะสมเงินทุนสำหรับให้สินบน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 67)
Tags: ชิเงรุ อิชิบะ, นายกรัฐมนตรี, ฟูมิโอะ คิชิดะ, รัฐสภา, เศรษฐกิจ