โครงการชลประทานศรีสะเกษ จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก หลังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 3 ต.ค. 67
นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำ ในเขตอำเภอขุนหาญ กันทรลักษ์ และอำเภอเมืองศรีสะเกษ พบว่า อ่างเก็บน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้ง 5 แห่งที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีปริมาณน้ำในอ่างฯ มากกว่า 80% ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย อำเภอกันทรลักษ์ อ่างเก็บน้ำห้วยตะแบง และอ่างเก็บน้ำห้วยทา อำเภอขุนหาญ อ่างเก็บน้ำห้วยซัน และอ่างเก็บน้ำห้วยคล้า อำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกัก มีการระบายน้ำผ่านทางอาคารระบายน้ำล้น (spillway) ตามแผนการส่งน้ำ และการระบายน้ำของโครงการฯ ที่วางไว้ สอดคล้องกับสถานการณ์ เป็นไปตามที่ สทนช. ได้ประกาศแจ้งเตือน
ทั้งนี้ บริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก และมีความลาดชันสูง อาจเกิดภาวะน้ำบ่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันได้ โครงการชลประทานศรีสะเกษ จึงได้ประสานแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ยืนยันอ่างเก็บน้ำทุกแห่งยังมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้ตลอดทั้งปี เช่น ข้าวนาปี สวนทุเรียนภูเขาไฟ และพืชชนิดต่าง ๆ
สำหรับในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 16 แห่ง ปัจจุบันเก็บกักได้ประมาณ 87% เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง เก็บกักได้ประมาณ 94% ส่วนสถานการณ์น้ำในลำน้ำสายต่าง ๆ ได้แก่ แม่น้ำมูล ลำน้ำห้วยสำราญ ลำน้ำห้วยขยูง และลำน้ำห้วยทับทัน ยังสามารถรองรับน้ำได้ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 3-4 เมตร ยกเว้นลำห้วยทับทันบริเวณจุดตรวจวัด M.42 ที่มีระดับน้ำใกล้ถึงระดับตลิ่ง
ขอให้ประชาชนชาวศรีสะเกษ ติดตามสถานการณ์น้ำ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยโครงการชลประทานศรีสะเกษ จะร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อม เครื่องจักร เครื่องมือ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 67)
Tags: จำรัส สวนจันทร์, น้ำท่วม, ศรีสะเกษ, สทนช., อ่างเก็บน้ำ, อุทกภัย, โครงการชลประทานศรีสะเกษ