น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วและแรง ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเข้าไปดูแลในช่วงที่เงินบาทผันผวนแรง เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อภาคธุรกิจ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายส่วนประกอบกับ เช่น ดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงิน
โฆษก ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยที่เงินเยนอ่อนค่า และมีโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และล่าสุด ยังมาจากการแข็งค่าของเงินหยวน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีนที่หนุนให้ sentiment ในตลาดการเงินดีขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัจจัยเฉพาะตัวจากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ความชัดเจนของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ sentiment ในตลาดหุ้นไทยปรับดีขึ้น รวมถึงราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น
“ค่าเงินเราอยู่ในสกุลภูมิภาค ถ้ามองว่าเงินเยน กับหยวนจะแข็ง ก็ทำให้เงินในสกุลภูมิภาคแข็งค่าตามไป แต่ถามว่าเรา (บาท) แข็งสุดหรือไม่ มีคนแข็งกว่าเรา คือ มาเลเซีย แข็งค่าไป 11% แต่เราก็อยู่อันดับ 2 อันดับ 3 ที่แข็งค่า เราติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และเข้าดูแลในช่วงที่เงินบาทผันผวนแรง เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งสะท้อนได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ก็มาจากหลายส่วน เช่น ดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงินด้วย” น.ส.ชญาวดี กล่าว
พร้อมระบุว่า เมื่อเงินบาทมีความผันผวนเร็วและแรง การเข้าไปดูแลค่าเงินเป็นสิ่งที่ ธปท.จะต้องดำเนินการ เพราะถือเป็นหนึ่งในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา ขณะเดียวกันก็ดูการทำงานของตลาดด้วยว่า demand และ supply ยังทำงานได้ตามปกติหรือไม่ หากเห็นจุดไหนที่การทำงานไม่ปกติ ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลด้วยเช่นกัน
สำหรับผลกระทบต่อผู้ส่งออกจากเงินบาทแข็งค่านั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ต้องมองเป็น 2 ส่วน และขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นธุรกิจส่งออก และมีการนำเข้าสินค้าด้วยนั้น ในมุมของการส่งออกก็อาจจะเสียประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็สามารถนำเข้าสินค้าได้ในราคาที่ต่ำลง ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก จะเป็นกลุ่มที่มี Import Content ไม่มาก เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ดี แต่หากมองถึงความสามารถในการส่งออก จะพบว่าจากการที่เงินบาทแข็งค่าในหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้กระทบกับปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยมาก เพราะการส่งออกได้ในปริมาณมากหรือน้อย ขึ้นกับอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าจากประเทศผู้ซื้อมากกว่า
“หากดูตามสถิติ จะเห็นว่าปริมาณการส่งออกของไทย จะไปกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้ามากกว่า แต่แน่นอน รายได้ของผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ แต่ก็ขึ้นกับประเภทของธุรกิจด้วย” น.ส.ชญาวดี ระบุ
สำหรับผลกระทบในแง่ของการท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) อาจไม่มีการเปลี่ยนแผนมาก เพราะจองโปรแกรมเดินทางล่วงหน้าไว้แล้ว เพียงแต่เมื่อมาถึงประเทศไทย อาจมีการปรับลดการใช้จ่ายบ้าง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้าไทย เช่น นักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวมาเลเซียนั้น ประเทศเหล่านี้มีค่าเงินที่แข็งกว่าไทย ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่ามากนัก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 67)
Tags: ค่าเงินบาท, ชญาวดี ชัยอนันต์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เงินบาท