ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ส.ค. ทรงตัว รับท่องเที่ยว-ลงทุนเอกชนชะลอ แม้ส่งออกฟื้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.67 ว่า เศรษฐกิจไทยทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น ซึ่งบางส่วนมาจากปัจจัยชั่วคราว ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงตามรายรับ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าคงคลังในหลายหมวดยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของฐานและราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ลดลงตามราคาตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารเป็นสำคัญ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน

ขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้น จากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธปท. กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง สอดคล้องกับราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าคงทนลดลงสะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่หดตัว และหมวดบริการลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ลดลงต่อเนื่องจากความกังวลด้านค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำ รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม

  • ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งส่งออกสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป ไปยังประเทศคู่ค้าที่อุปทานขาดแคลน โดยเฉพาะการส่งออกยางไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา ประกอบกับการส่งออกยานยนต์ไปตะวันออกกลาง ที่เร่งขึ้นจากรอบการส่งมอบของผู้ส่งออกบางราย

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในบางหมวด ปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์ไปสหรัฐฯ ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ และปิโตรเลียมหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า

  • การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคม และชลประทาน สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวตามการเบิกจ่ายโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม

  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนส.ค.อยู่ที่ 3 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 3.1 ล้านคน ผลจากนักท่องเที่ยวจีน และมาเลเซีย หลังเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น และอินเดีย สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวทรงตัวจากเดือนก่อน จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

  • เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนด้านก่อสร้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายอิฐบล็อคและพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยลดลง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจทรงตัวจากเดือนก่อน

  • มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลักจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามปริมาณการนำเข้าเชื้อเพลิง และการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน 2) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากไต้หวันหลังเร่งนำเข้าไปในช่วงก่อนหน้า และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือจากจีน และเวียดนาม และผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมที่เร่งนำเข้าไปในเดือนก่อน

  • ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วหดตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ หดตัวจากการผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งสำหรับขายในประเทศเป็นสำคัญ 2) หมวดยางและพลาสติก จากการผลิตถุงมือยางหลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อน 3) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้าจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับสินค้าคงคลังในหลายหมวดยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การผลิตบางสินค้าเช่น สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง น้ำตาล ขยายตัวจากเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก

  • ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค. อยู่ที่ 0.35% ลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของฐานสูงในปีก่อน และราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 0.62% โดยเฉพาะหมวดอาหาร ตามราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมในระบบประกันสังคมที่ปรับลดลง

  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนส.ค. มียอดเกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค.ที่มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 0.1 พันล้านดอลลาร์ โดยเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามค่าใช้จ่ายทรัพย์สินทางปัญญา

ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในธุรกิจกลุ่มผลิตปิโตรเคมีและธุรกิจก่อสร้าง หลังเร่งระดมทุนไปในช่วงก่อน ประกอบกับรอความชัดเจนของทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การระดมทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจสุทธิลดลงจากธุรกิจในภาคการผลิต สาธารณูปโภค และภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากธุรกิจขนส่งและธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่

  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาด 2) การแข็งค่าขึ้นของหลายสกุลในภูมิภาคตามสกุลเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาด และ 3) แรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top