แก้รธน.ส่อยื้อ?? จับตาสว.นัดถกร่าง กม.ประชามติ 30 ก.ย. จ่อฟื้นเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น

นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 30 ก.ย.67 โดยมีวาระพิจารณา เรื่องด่วน คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของรายงานซึ่ง กมธ. นำเสนอต่อที่ประชุม มีการแก้ไขเพียง 1 มาตรา คือ ในมาตรา 7 ซึ่งแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ โดย กมธ.ได้แก้ไขเพิ่มเติมจากบทบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ โดยได้เติมข้อความในวรรคสอง “กำหนดให้การทำประชามติเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามติ” ซึ่งแปลความได้ว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเป็นกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องทั่ว ๆ ไปนั้น กมธ.ยังคงหลักเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ “เสียงข้างมากของผู้ออกมาออกเสียง และเสียงข้างมากนั้น ต้องสูงกว่าคะแนนไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องที่ทำประชามติ”

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุถึงข้อสังเกตของ กมธ. ได้แก่

1. ในการกำหนดระยะเวลาออกเสียงนอกราชอาณาจักร ควรเผื่อระยะเวลา เพราะแต่ละประเททศมีองค์ประกอบ และปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง และบัตรออกเสียงประชามติ ซึ่งในอดีตพบว่ามีความล่าช้าจากหลายปัจจัย

2. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และตระหนักความสำคัญของการออกเสียงประชามติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจัดเวทีแสดงความคิดเห็นโดยอิสระเท่าเทียม ทั้งผู้เห็นชอบ และไม่เห็นชอบ ต้องอำนวยความสะดวกด้านอื่นให้ประชาชนทุกคนเข้าร่วมใช้สิทธิเต็มที่ นอกเหนือจากการเผยแพร่วัน เวลา และสถานที่ใช้สิทธิ และต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่มีการออกเสียงประชามติ

3. การออกเสียงลงคะแนนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ต้องสร้างระบบให้มีความน่าเชื่อถือ และดำเนินการได้ภายในวันเดียวกัน หรือควบคู่กัน เพื่อประหยัดงบประมาณ โดย กกต.ต้องบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระบบดังกล่าวต้องป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.การตั้งประเด็นคำถาม ควรมีถ้อยคำชัดเจนเพียงพอให้ผู้มาออกเสียง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” เพื่อป้องกันปัญหาการตีความ ทั้งนี้หากคำถามประชามติเป็นคำถามเชิงซ้อน ควรใช้การออกเสียงแบบแยกย่อยคำถามจนครบทุกประโยคเชิงซ้อนด้วย จึงจะถือว่ามีข้อยุติ

 

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ สว.ต้องการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพราะไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์การใช้เสียงข้างมากปกติ (Single majority) แต่ต้องการให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) ว่า ต้องรอดูสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเคยแก้ไข และประกาศใช้ไปแล้ว แต่ สว.คิดเห็นไม่เหมือนกัน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขอีกครั้งโดยการตั้งกรรมาธิการร่วม ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม

ส่วนการแก้ไขประชามติ อาจจะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ทันรัฐบาลนี้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะช้าหรือไม่ช้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีการแก้ไขกฎหมายประชามติ เวลาที่ดำเนินการมาทั้งหมดก็ใช้ไม่ได้ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หรือทำประชามติแต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ครึ่งหนึ่ง แต่เห็นชอบไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ จึงต้องดูรายละเอียด เพราะขึ้นอยู่กับกฎหมาย แต่ขณะนี้ความเห็นร่วมกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีข้อยุติ

“หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ไม่ต้องทำประชามติ ก็ไม่ต้องรอ แต่ยอมรับว่าหากร่างไหนที่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน คงล่าช้า ส่วนจะทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่นั้น ไม่ทราบ และไม่อยากพูดไปล่วงหน้า เพราะหากมีการแก้ไขกระบวนการทำประชามติ ที่ต่างจากร่างเดิม กระบวนการต่าง ๆ ก็จะล่าช้าไปด้วย” ประธานสภาฯ ระบุ

 

*รอความชัดเจน แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา นายวันมูหะมัดนอร์ คาดว่า จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงกลางเดือนต.ค. โดยในเบื้องต้นขณะนี้มีร่างที่ถูกบรรจุในระเบียบวาระแล้ว 3 ร่างของพรรคประชาชน แต่ไม่ทราบความชัดเจนเรื่องที่พรรคเพื่อไทยจะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา อีก 2-3 ร่างอีกหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังรอความชัดเจนทั้งจากร่างฉบับที่เสนอโดยพรรคประชาชน และร่างฉบับที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ให้ครบถ้วนก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกัน เพื่อที่จะได้พิจารณาไปพร้อมกัน

ส่วนร่างฉบับของพรรคประชาชนที่ส่งมาแล้ว จะต้องทำประชามติ หรือสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไขทั้งฉบับ หรือแก้ไขอำนาจองค์กรอิสระ หรืออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะลดหรือเพิ่มอำนาจ ก็จะต้องทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนก่อนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่เรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรมนั้น จะต้องพิจารณาว่าแก้ไขเป็นอย่างไร เนื่องจากมีทั้งประเด็นที่ต้องทำประชามติ และไม่ต้องทำประชามติ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสาระสำคัญ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top