ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ปี 67 อยู่ที่ 9,700 ล้านบาท โต 3.2% จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผลิตภัณฑ์ในตลาดและช่องทางการขาย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น ท่ามกลางตลาดที่ยังแข่งขันรุนแรง ทั้งจากกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ผลิตในประเทศ และนำเข้า รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวน ที่นับเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคคุ้นเคยกับโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่มากขึ้น หลังจากทำตลาดในไทยมากกว่า 5 ปี โดยปัจจุบันผู้บริโภคกว่า 7.2 ล้านคน ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และกว่า 50% ของกลุ่มดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ส่งผลให้คาดว่ายังเป็นพื้นที่ศักยภาพในการขยายตลาด เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงกว่าภูมิภาคอื่น
ทั้งนี้ การตอบรับโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ที่มีมากขึ้น ทำให้จำนวนผลิตภัณฑ์และช่องทางการขายเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) และกลุ่มวีแกน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ปี 67 จะอยู่ที่ 9,700 ล้านบาท ขยายตัว 3.2% โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ ที่ผู้ประกอบการจะเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 30% (ตลอดช่วงกินเจ 10 วัน) และคาดว่าน่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ราว 30% เทียบกับช่วงปกติ
ขณะเดียวกัน มองว่า ปี 67 ตลาดโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่กลุ่มเครื่องดื่ม แม้มีสัดส่วนเพียง 39% แต่มีแนวโน้มเติบโต 6.1% จากราคาต่อหน่วยที่เข้าถึงง่าย และความนิยมในการประยุกต์เป็นส่วนผสมของเมนูเครื่องดื่มสำหรับคนรักสุขภาพ รวมถึงผู้แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มอาหารในปีนี้ คาดว่าโตเพียง 1.4% แม้ผู้ประกอบการจะพยายามทำให้ระดับราคาต่อหน่วยไม่แตกต่างมากนักจากอาหารทั่วไป เช่น อาหารสำเร็จรูปที่ขายในร้านสะดวกซื้อ แต่มีหลายรายการที่ราคาต่อหน่วยยังสูง เช่น กลุ่มวัตถุดิบ (เนื้อบดจากพืช) อาหารพร้อมทาน (หมูปิ้งจากพืช) จึงทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้เลือกซื้อในความถี่ที่มาก
อย่างไรก็ดี ธุรกิจโปรตีนทางเลือกยังมีความเสี่ยงจาก 2 ปัจจัย ดังนี้
1. การแข่งขันรุนแรงจากกลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกด้วยกันเอง ทั้งที่ผลิตได้ในประเทศ และที่นำเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น อาทิ สิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม ส่งผลให้มีสินค้าในตลาดมากกว่า 100 แบรนด์ และกลุ่มอาหารทั่วไปที่มีหลากหลาย ทั้งระดับราคา ประเภทอาหาร และแหล่งเลือกซื้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถปรับพฤติกรรมการบริโภคไปตามกำลังซื้อมีอยู่ในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง
2. ต้นทุนวัตถุดิบที่ยังผันผวนและมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้น โดยต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนราว 40-50% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน อาจกระทบกับผลผลิตและราคา โดยเฉพาะถั่วเหลือง ที่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมด รวมถึงวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศยังไม่เพียงพอ อาทิ ถั่วเขียว เห็ดแครง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 67)
Tags: ตลาดโปรตีนทางเลือก, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, โปรตีนทางเลือก