อัยการสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อหา เอริก อดัมส์ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) ฐานรับเงินสนับสนุนการหาเสียงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และรับสินบนจากฝ่ายตุรกีที่ต้องการมีอิทธิพลต่อตัวเขา
ในคำฟ้อง 57 หน้า อัยการได้เปิดเผยแผนการที่ถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยตุรกีสนับสนุนทางการเงินให้กับการหาเสียงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของอดัมส์ในปี 2564 และให้ผลประโยชน์กับเขาในรูปแบบของการเดินทางอย่างหรูหรา ห้องพักราคาพิเศษในโรงแรมหรู และมื้ออาหารในร้านอาหารระดับไฮเอนด์
อัยการกล่าวว่า อดัมส์ได้ตอบแทนตุรกีโดยการกดดันเจ้าหน้าที่ของเมืองนิวยอร์กให้อนุญาตให้เปิดดำเนินการสถานกงสุลแห่งใหม่สูง 36 ชั้นของตุรกีได้ แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยก็ตาม
อดัมส์ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต กำลังเผชิญข้อกล่าวหาทางอาญา 5 กระทง และหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง เขาอาจต้องรับโทษจำคุกนานหลายสิบปี โดยเอริก อดัมส์ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ 110 คนของนครนิวยอร์ก ที่ถูกตั้งข้อหาทางอาญาขณะยังดำรงตำแหน่งอยู่
อดัมส์ วัย 64 ปี ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และยืนยันว่าจะต่อสู้คดีในชั้นศาล พร้อมทั้งประกาศว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี
“ผมจะยังคงทำงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อไป” อดัมส์กล่าวในการแถลงข่าว แม้จะมีเสียงจากผู้ที่อยู่ในงานแถลงข่าวเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งก็ตาม
ทั้งนี้ อดัมส์มีกำหนดขึ้นศาลในเที่ยงวันนี้ (27 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น
ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของอดัมส์ที่เกรซี แมนชั่น ย่านอัปเปอร์อีสต์ไซด์ ในแมนฮัตตัน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พบเห็นกลุ่มคนประมาณ 12 คนแต่งกายแบบนักธุรกิจ เดินอยู่ในบริเวณแมนชั่นพร้อมกระเป๋าเอกสารและกระเป๋าดัฟเฟิล
ถึงแม้ว่าแคธี โฮชูล ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กจากพรรคเดโมแครต จะสามารถถอดถอนอดัมส์ออกจากตำแหน่งได้ แต่เบนเน็ตต์ เกิร์ชแมน ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพซ ระบุว่ากระบวนการนี้มีความซับซ้อน
โฮชูลออกแถลงการณ์ว่าเธอจะ “พิจารณาทางเลือกและภาระหน้าที่ของดิฉันในฐานะผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก”
“ดิฉันคาดหวังว่าท่านนายกเทศมนตรีจะใช้เวลา 2-3 วันข้างหน้าเพื่อทบทวนสถานการณ์และหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนในนครนิวยอร์กจะได้รับการบริการที่ดีจากผู้นำของพวกเขา” โฮชูลกล่าว
คำฟ้องระบุว่า อดัมส์ ขณะดำรงตำแหน่งประธานเขตบรูคลิน ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากฝ่ายตุรกี ได้แก่ การเดินทางฟรีกับสายการบินตุรกีมูลค่าหลายหมื่นดอลลาร์ และจ่ายเพียง 600 ดอลลาร์สำหรับห้องสวีทสุดหรู 2 คืนที่โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส ในกรุงอิสตันบูล ซึ่งต่ำกว่าราคาจริงที่ 7,000 ดอลลาร์อย่างมาก
อัยการเปิดเผยว่า อดัมส์เลือกที่จะใช้บริการสายการบินตุรกี แม้ว่าเส้นทางการบินจะไม่สะดวกก็ตาม โดยมีหลักฐานเป็นข้อความที่อดัมส์ส่งในปี 2560 ซึ่งคู่ของเขาแสดงความประหลาดใจที่ต้องบินจากนิวยอร์กไปกรุงปารีสโดยแวะต่อเครื่องที่กรุงอิสตันบูล ซึ่งอดัมส์ตอบว่า “คุณก็รู้ว่าจุดแวะพักแรกต้องเป็นอิสตันบูลเสมอ”
คำฟ้องระบุว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีปี 2564 อดัมส์ได้ปกปิดที่มาของเงินสนับสนุนการหาเสียงจากตุรกี โดยใช้วิธีโอนผ่านพลเมืองอเมริกันเพื่อทำให้ดูเหมือนว่าเงินบริจาคมาจากภายในประเทศ ซึ่งทำให้เขามีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มเติมอีก 10 ล้านดอลลาร์
เดเมียน วิลเลียมส์ อัยการสูงสุดของรัฐบาลกลางในแมนฮัตตัน กล่าวในการแถลงข่าวว่า “นี่เป็นแผนการที่ดำเนินมาหลายปีเพื่อติดสินบนนักการเมืองนครนิวยอร์กคนหนึ่งที่กำลังมาแรง”
คำฟ้องระบุว่า อดัมส์ทำตามคำขอของนักการทูตตุรกี โดยกดดันเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของเมืองให้อนุญาตให้เปิดสถานกงสุลแห่งใหม่สูง 36 ชั้นของตุรกีได้ทันเวลาสำหรับการเยือนของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ในเดือนก.ย. 2564 แม้สถานกงสุลดังกล่าวอาจไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบอัคคีภัยก็ตาม
หลังจากอดัมส์ส่งข้อความเกี่ยวกับอาคารสถานกงสุลซ้ำ ๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมดับเพลิงก็บอกกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่าตัวเองจะตกงานถ้าไม่อนุญาตให้เปิดสถานกงสุล และหลังจากที่กรมดับเพลิงอนุมัติให้เปิดอาคารในวันเดียวกันนั้น อดัมส์ก็แจ้งให้นักการทูตตุรกีทราบทันที
นอกจากนี้ อดัมส์ยังได้ทำเรื่องอื่น ๆ เพื่อเอาใจตุรกีอีกด้วย เช่น ก่อนที่เขาจะเป็นนายกเทศมนตรี อดัมส์ได้ตัดความสัมพันธ์กับศูนย์ชุมชนแห่งหนึ่งในบรูคลินตามคำร้องขอของนักการทูตตุรกี โดยนักการทูตอ้างว่าศูนย์ชุมชนแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลตุรกี
ไม่นานหลังจากที่อดัมส์เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีในปี 2565 เจ้าหน้าที่ของอดัมส์รับปากกับนักการทูตตุรกีว่า อดัมส์จะไม่ออกแถลงการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียในจักรวรรดิออตโตมันปี 2458 ซึ่งทางสหรัฐฯ ถือว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ด้านอดัมส์กล่าวว่า เขาต้องการให้มีการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อที่จะล้างมลทินให้ตัวเอง “ถ้าเป็นเรื่องผู้บริจาคต่างชาติ ผมรู้ว่าผมไม่ได้รับเงินจากพวกเขา”
อนึ่ง คดีความนี้น่าจะทำให้การลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยหน้าของอดัมส์ในปี 2568 มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากนักการเมืองคนอื่น ๆ ในพรรคเดโมแครต รวมถึงแบรด แลนเดอร์ เจ้าพนักงานตรวจสอบการเงินการบัญชีของนครนิวยอร์ก วางแผนที่จะลงแข่งกับเขา
อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ ส.ส. พรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นผู้แทนเขตเลือกตั้งที่ 14 ของนิวยอร์ก เรียกร้องให้อดัมส์ลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม 2 นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลจากบรูคลิน ได้แก่ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา และฮาคีม เจฟฟรีส์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎร ยังคงสงวนท่าที
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 67)
Tags: สหรัฐ, เอริก อดัมส์