นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ขั้นสุดท้าย โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้เร็ว ๆ นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันภายในปี 2567
สำหรับแนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอนนั้น เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ
ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอนที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต
“ภาษีคาร์บอนจะครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงทั้งหมด ตอนนี้อยู่ในการพิจารณาขั้นสุดท้าย โดยยืนยันว่าภาษีดังกล่าวจะมีความชัดเจนว่าจะไม่กระทบกับราคาขายปลีกน้ำมันทุกประเภท และจะไม่กระทบกับประชาชนแม้แต่บาทเดียว เพราะกลไกภาษีคาร์บอนของสรรพสามิตนี้ เป็นกลไกที่จะช่วยทำให้เกิดแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว” นายเผ่าภูมิ กล่าว
สำหรับวิธีการคำนวณภาษีคาร์บอน เบื้องต้นจะไม่ได้เก็บเป็นขั้นบันได แต่จะคิดอัตราภาษีตามราคาคาร์บอนต่อหน่วย เช่น ในน้ำมัน 1 ลิตร จะรู้อยู่แล้วว่าน้ำประเภทนี้มีคาร์บอนคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ นำตรงนี้ไปคูณกับราคาคาร์บอนต่อหน่วย ดังนั้น ถ้าน้ำมันประเภทไหนสะอาดก็จะมีคาร์บอนน้อย และเมื่อนำไปคูณกับราคาคาร์บอนก็จะเสียภาษีน้อย ส่วนราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม โดยหลังจากนี้ประเทศไทยจะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียวทุกชนิด แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิดสร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน ดังนั้น การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)
Tags: Carbon TAX, ภาษีคาร์บอน, เผ่าภูมิ โรจนสกุล