ช่วงเช้าที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์, นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นายศุภวุฒิ สายเชื้อ, นายธงทอง จันทรางศุ และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก เพื่อประชุมหารือร่วมเป็นครั้งแรก
ภายหลังการประชุม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาฯ เตรียมเสนอ 3 มาตรการสำคัญต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
– มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้มีการนำเสนอแนวความคิดเบื้องต้น แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
– มาตรการแก้หนี้ที่ได้ผล ไม่ใช่การสนับสนุนเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งการแก้หนี้ดีที่สุด คือ การทำให้คนเป็นหนี้มีรายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก มีการพูดคุยแนวทางเบื้องต้นแล้ว และคิดว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจที่จะแก้หนี้ได้ในอนาคต
– มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจและ SME สามารถรุกตลาดต่างประเทศได้จริงจัง ซึ่งมีมาตรการบางอย่างที่จิ๊กซอว์ที่หายไปในระหว่างการทำนโยบายการค้าต่างประเทศก็จะนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนเรื่องการแก้วิกฤตการเมือง นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การมองภาพทั้งระบบให้ระบบยุติธรรมเดินหน้าไป มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม รวมถึงเรื่องรัฐธรรมนูญก็คงมีการพูดคุยในคณะที่ปรึกษาฯ ด้วย และคงได้มีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีด้วย แม้คณะที่ปรึกษาฯ ทุกคนจะมีอายุมากแล้ว แต่จากการพูดคุยกันแล้วแต่ละคนผ่านประสบการณ์มากมาย แต่ยังเรียนรู้ไม่หยุด
นอกจากนี้ ทางคณะที่ปรึกษาฯ ได้เสนอแนะบทบาทที่จะทำต่อไปใน 4 เรื่อง ได้แก่
1.คณะที่ปรึกษาทั้ง 5 คนมีประสบการณ์ในการทำงานในส่วนเชิงนโยบายหรือขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมาหลากหลายด้าน ซึ่งทุกคนจะให้คำเสนอแนะโดยไม่จำกัดเฉพาะด้านที่ตนเองเชี่ยวชาญ แต่ทุกคนก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะขับเคลื่อนเรื่องนั้นเป็นพิเศษ เช่น นายธงทอง จันทรางศุ สนใจเรื่องปฏิรูประบบราชการ, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา จะช่วยดูเรื่องกฏหมายต่าง ๆ สามารถเอื้ออำนวยขับเคลื่อนระบบราชการและการทำงานของรัฐบาลให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่, นายศุภวุฒิ สายเชื้อ สนใจที่นำเสนอเรื่องนโยบายที่นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศได้ ส่วนตนสนใจที่จะขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขและซอฟท์พาวเวอร์ให้เกิดผลจริงจัง ขณะที่นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา มีประสบการณ์ด้านการเมืองและการนำเสนอนโยบายมาต่อเนื่องกับหลายนายกรัฐมนตรี และมีประสบการณ์ในเรื่องต่างประเทศ และการสร้างรายได้ให้กับฐานราก
2.คณะที่ปรึกษาได้หารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรที่จะมีการวบรวมองค์ความรู้ และความคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน ดังนั้นคณะที่ปรึกษาจะมีการเชิญทั้งในส่วนภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมมาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันและกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
3.คณะที่ปรึกษาคิดว่าแต่ละเรื่องจะทำอย่างไร ทำให้เรื่องที่เราคิดเป็นจริงได้อย่างไร โดยจะมีการกำหนดแผนชัดเจน มีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องและขับเคลื่อนองคาพยพทั้งระบบราชการและระบบเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนไปได้
ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการเชิญทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพูดคุยกับคณะที่ปรึกษาฯ นั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ธปท.เป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐที่ต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่อาจไม่ได้พูดคุยกัน หรือเชิญมาเป็นทางการเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีบทบาทแตกต่างกันไป แต่คงมีโอกาสได้พูดคุยกับกระทรวงการคลังด้วย
4.มีการกำหนดการประชุมของคณะที่ปรึกษากับนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดมีการประชุมทุก ๆ สัปดาห์ เบื้องต้นกำหนดไว้เป็นทุกวันพฤหัส และหากมีประเด็นในที่สำคัญที่จะนำเสนอก็จะมีการแถลงให้สื่อมวลชนทราบ
“ผมเชื่อว่าทั้ง 5 คนตกสมัยไม่มีแน่ แต่เราไม่ได้ทำงานกัน 5 คน หลังจากนี้จะมีการตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละเรื่อง เราทั้ง 5 คนเหมือนเป็นสารตั้งต้นที่จะนำสู่การแก้ปัญหาประเทศครั้งใหญ่…ถ้าเปรียบเทียบสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับทำให้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ก็เป็นเรื่องใหญ่มากที่ทำให้สันติภาพในภูมิภาคนี้ ผมคิดว่าไม่ได้มองว่ากี่เดือนจะได้อะไร แต่มองว่า ภายในรัฐบาลขณะนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่า เหลือสองปีกว่า ๆ สิ่งที่อยากเห็นคนต้องพ้นจากความยากจน ประเทศสามารถหลุดพ้นปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ที่ทุกวันนี้และนำไปสู่ที่ทิศทางที่ชัดเจน ในการสร้างเศรษฐกิจกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง” นพ.สุรพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)
Tags: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, ธงทอง จันทรางศุ, นายกรัฐมนตรี, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, พันศักดิ์ วิญญรัตน์, ศุภวุฒิ สายเชื้อ, สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, แพทองธาร ชินวัตร