“ซักเคอร์เบิร์ก” เผยโฉม “Orion” ต้นแบบแว่น AR ชี้เป็น “ไทม์แมชชีน” สู่โลกอนาคต

เมตา แพลตฟอร์มส์ (Meta Platforms) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) ได้เปิดตัวต้นแบบแว่นตา AR ที่ใช้งานได้จริงรุ่นแรกในชื่อ “โอไรออน” (Orion) ในงานประชุมคอนเนคท์ (Connect) ประจำปี 2567 เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) โดยบริษัทตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงโลกเสมือนเข้ากับโลกจริง

“นี่คือโลกแห่งความจริงที่ถูกซ้อนทับด้วยภาพโฮโลแกรม” มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตากล่าว หลังจากหยิบแว่นตาสีดำทรงใหญ่ขึ้นมาจากกล่องโลหะที่ถูกนำมาให้เขาบนเวที

“ตอนนี้ผมว่า มองโอไรออนเป็นไทม์แมชชีนนี่แหละเข้าท่าสุด แว่นนี่มีอยู่จริงนะ บอกเลยว่ามันเจ๋งมาก แล้วมันก็เหมือนกับเราได้แอบมองภาพอนาคตที่ผมว่าน่าตื่นเต้นสุด ๆ ไปเลย”

นอกจากนี้ เมตายังโชว์ความสามารถใหม่ ๆ ของแชตบอต AI สำหรับบริการต่าง ๆ และชุดหูฟัง Mixed Reality “เควสต์” (Quest) รุ่นใหม่อีกด้วย

อนึ่ง ราคาหุ้นของเมตาปิดตลาดในวันพุธที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 0.9% แตะระดับ 568.31 ดอลลาร์

แว่นโอไรออนผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอยและใช้ชิปที่เมตาออกแบบมาเอง ผู้ใช้สามารถสั่งงานได้ผ่านการเคลื่อนไหวของมือ คำสั่งเสียง และอินเทอร์เฟซประสาทสัมผัสที่ข้อมือ

ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่า เมตามีแผนที่จะพัฒนาให้แว่นนี้มีขนาดเล็กลง ดีไซน์สวยงามขึ้น และราคาถูกลง ก่อนจะวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไปในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างพัฒนาอุปกรณ์ AR กันมานานหลายปีแล้ว แต่หลายเจ้าที่ดัง ๆ ก็ล้มเหลว อย่างเช่น กูเกิลกลาส (Google Glass)

ซักเคอร์เบิร์กมองว่า เทคโนโลยี AR คือผลงานชิ้นโบแดงของเขา ตอนที่เขาเปลี่ยนทิศทางของบริษัทโซเชียลมีเดียระดับโลกไปสู่การสร้างระบบ “เมตาเวิร์ส” (Metaverse) ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม การส่งมอบผลิตภัณฑ์กลับต้องสะดุดเพราะต้นทุนการพัฒนาที่สูงลิ่วและอุปสรรคทางเทคโนโลยี

เปาโล เปสคาทอเร นักวิเคราะห์จากพีพี ฟอร์ไซต์ (PP Foresight) กล่าวว่า เมตามุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ VR และ AR เข้าถึงตลาดวงกว้างและมีราคาที่จับต้องได้อย่างแน่นอน แต่เขาก็เสริมว่าผู้ใช้ “ยังคงกังวลเกี่ยวกับ AI” และเมตายังต้องโน้มน้าวใจผู้บริโภคอีกมาก

แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนเปิดงานว่า เมตาตั้งเป้าจะวางขายแว่นตา AR รุ่นแรกให้ผู้บริโภคในปี 2570 ซึ่งตอนนั้นคาดว่า เทคโนโลยีน่าจะก้าวหน้าพอที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

ซักเคอร์เบิร์กไม่ได้สาธิตการใช้งานของโอไรออนให้เห็นกันชัดเจนในงาน แต่ได้เปิดวิดีโอที่แสดงปฏิกิริยาของคนที่ได้ทดลองใช้แล้ว ในวิดีโอมีภาพตัวอย่างข้อความและรูปภาพที่แสดงบนแว่นให้เห็นคร่าว ๆ โดยมี เจนเซน หวง ซีอีโอของอินวิเดีย (Nvidia) เป็นหนึ่งในผู้ทดสอบด้วย

แว่นที่ใกล้เคียงกับต้นแบบโอไรออนมากที่สุดในขณะนี้คือแว่นตาอัจฉริยะเรย์แบน เมตา (Ray-Ban Meta) ซึ่งในตอนแรกไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่เมื่อเมตาเพิ่มผู้ช่วย AI เข้าไปเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มได้รับความนิยม ปีนี้เมตาประกาศเพิ่มฟีเจอร์ AI ให้แว่นรุ่นนี้ เช่น สแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) และสั่งเล่นเพลงจากสปอติฟาย (Spotify) ด้วยเสียงได้

ปลายปีนี้ เมตาวางแผนจะเพิ่มความสามารถในการสร้างวิดีโอและแปลภาษาแบบเรียลไทม์ระหว่างอังกฤษกับอีก 3 ภาษา ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน โดยซักเคอร์เบิร์กได้โชว์ตัวอย่างการใช้งานแปลภาษาด้วยการสนทนาสดกับแบรนดอน โมเรโน นักสู้ MMA ชาวเม็กซิกัน ซึ่งแว่นตาจะแปลภาษาอังกฤษเป็นสเปนและสเปนเป็นอังกฤษให้แบบทันที

นอกจากนี้ เมตายังประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกมากมายสำหรับแชตบอตที่คล้ายแชตจีพีที (ChatGPT) รวมถึงแผนที่จะใส่รูปภาพที่ AI สร้างขึ้นมาเฉพาะสำหรับผู้ใช้แต่ละคนลงในฟีดเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) ของผู้ใช้โดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ผู้ช่วยดิจิทัล “Meta AI” ได้รับการอัปเกรดด้านเสียง โดยตอนนี้สามารถตอบสนองต่อคำสั่งเสียงได้แล้ว แถมยังมีตัวเลือกให้ผู้ใช้เปลี่ยนเสียงของผู้ช่วยเป็นเสียงดาราดังอย่าง จูดี เดนช์ และจอห์น ซีนา ได้ด้วย

“ผมคิดว่าการใช้เสียงจะเป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติมากกว่าการพิมพ์ข้อความเวลาคุยกับ AI” ซักเคอร์เบิร์กกล่าว

บริษัทกล่าวว่ามีผู้ใช้งาน Meta AI มากกว่า 400 ล้านคนต่อเดือน โดยในจำนวนนี้มี 185 ล้านคนที่กลับมาใช้งานทุกสัปดาห์

เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการแชร์โมเดล AI ที่เป็นขุมพลังของตัวแทนดิจิทัลของเมตาเพื่อให้ผู้อื่นใช้งานได้ฟรีเป็นส่วนใหญ่ เมตาจึงได้เปิดตัว Llama 3 รุ่นใหม่อีก 3 รุ่น อย่างไรก็ตาม เมตาระงับการให้บริการโมเดลเหล่านี้ในสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากติดข้อบังคับในภูมิภาคดังกล่าว

นอกจากนี้ เมตายังประกาศเปิดตัวชุดหูฟัง mixed reality รุ่นเริ่มต้นในตระกูลเควสต์ชื่อรุ่นว่า Quest 3S ซึ่งจะวางขายในราคาเริ่มต้นที่ 300 ดอลลาร์ และยังลดราคาของ Quest 3 ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วอีกด้วย

ทั้งนี้ เมตาได้ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น AI, AR และเทคโนโลยีเมตาเวิร์สอื่น ๆ การลงทุนครั้งใหญ่นี้ส่งผลให้ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านทุน (CapEx) ของบริษัทในปี 2567 พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 3.7-4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่ง เรียลลิตี แลบส์ (Reality Labs) ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของเมตาที่รับผิดชอบในการพัฒนาเมตาเวิร์ส ขาดทุนไป 8.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ตามข้อมูลที่เปิดเผยล่าสุด และในปีก่อนหน้า เรียลลิตี แลบส์ ขาดทุนไปแล้วถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top