TMI กินยาวโซลาร์ฟาร์มยุโรปปีหน้าบุกพัฒนาเฟสแรก 30MW-บจ.แห่ทาบซื้อคาร์บอนเครดิต

นายธีรศักดิ์ ประสิทธิ์รัตนพร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธีระมงคล อุตสาหกรรม (TMI) เปิดเผยว่า บริษัทขยายการลงทุนไปสู่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในทวีปยุโรป ผ่านการร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งสร้างรายได้ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

ล่าสุด บริษัททำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ บริษัท เจียมพัฒนาพลังงาน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (JEI) เพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มในทวีปยุโรปร่วมกัน กำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายรวม 130 เมกะวัตต์ กำหนดกรอบระยะเวลาความร่วมมือระหว่างกันเป็นระยะเวลา 4 ปี โดย บริษัท ธีระมงคล เอนเนอร์ยี จำกัด (TME) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TMI ถือหุ้น 65% จะเป็นผู้เข้าร่วมทุนกับ JEI

รูปแบบจะเป็นการทยอยเข้าลงทุนตามการพัฒนาแต่ละโครงการ โดยจะพิจารณารูปแบบการลงทุนและโครงสร้างทางการเงินกับผู้ร่วมทุนเป็นคราวๆ ไป เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการเฟสแรกได้ภายในปี 68 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ราว 30 เมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างวางแผนทางการเงินคาดว่าจะมีทั้งการเจรจาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ เป็นต้น เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าฯ กำลังการผลิตรวม 130 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีมูลค่าโครงการทั้งหมดราว 4-5 พันล้านบาท

“ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในทวีปยุโรปส่วนใหญ่ ทางสถาบันการเงินในยุโรปมีการปล่อยกู้ให้อยู่แล้ว ในสัดส่วนประมาณ 70-75% ส่วนที่เหลือราว 30% เราก็อยู่ระหว่างพิจารณาระดมทุนในรูปแบบต่างๆ” นายธีรศักดิ์ กล่าว

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทมองว่าการใช้พลังงานทดแทนถือเป็นเทรนด์ของโลก ทำให้มีความสนใจที่จะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในทวีปยุโรป เชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการเติบโตของ TMI อย่างชัดเจน ประกอบกับเพิ่มศักยภาพการระดมทุน และการขอวงเงินกู้ในต่างประเทศ

บริษัทคาดว่าหลังจากพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มครบตามสัญญาใน 4 ปี จะหนุนให้รายได้ของ TMI เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ส่องสว่าง หลอดไฟ และโคมไฟ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเข้ามาหนุน เนื่องด้วยปกติภาครัฐจะมีการสั่งซื้อหลอดไฟ โคมไฟ ในช่วงเดือนก.ย.-พ.ย. ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ปีนี้ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ยังเตรียมพร้อมสำหรับการขาย Carbon Credit หลังจาก บริษัท กรีนเอิร์ธ เอ็นเนอร์จี จำกัด (โรงงานสุพรรณบุรี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TMI ได้รับการขึ้นทะเบียนเข้าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยแบบมาตรฐาน (Standard T-VER) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จำนวน 113,259 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี รวมระยะเวลา 7 ปี (6 มี.ค.66 – 5 มี.ค.73) คาดปริมาณคาร์บอนเครดิตรวม 792,813 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายรายสนใจติดต่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทแล้ว เนื่องจากในอนาคตกรมสรรพสามิตจะเรียกเก็บภาษีคาร์บอน ทั้งการจัดเก็บทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต และการเก็บทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

บรริษัทคาดว่าราคากลางคาร์บอนเครดิตน่าจะอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ TMI คาดการณ์ราคาขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตที่ราว 150-170 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หากขายได้ตามราคาคาดการณ์จะคิดเป็นรายได้ในส่วนของคาร์บอนเครดิตทั้งโครงการประมาณ 119-135 ล้านบาท ที่จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top