ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (CGSI) ระบุในบทวิเคราะห์ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ มุ่งเป้าไปที่ตลาดทุนและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ข้อมูลของ Bloomberg แสดงให้เห็นว่าราคา PVC Futures (polyvinyl chloride – อุปสงค์ส่วนใหญ่มาจากภาคก่อสร้าง) ในตลาด Dalian Commodity Exchange (DCE) ปรับขึ้น 2% ส่วนราคา LLDPE Futures (low-density polyethylene) และ PP Futures (low-density polyethylene) ปรับขึ้นไม่ถึง 1%
ทั้งนี้ ช่วงที่จีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่แล้วในเดือนพ.ค.67 ราคา PVC Futures ปรับขึ้น 6% หลังจากประกาศมาตรการสามวัน
อุปสงค์ตามฤดูกาลช่วยหนุนสเปรดได้มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามข้อมูลของ Chemical Market Analytics (CMA) สเปรด PVC-EDC (ethylene dichloride) ในเอเชียเพิ่มขึ้น เป็น 360-380 เหรียญสหรัฐ/ตันในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.67 จาก 290 เหรียญสหรัฐ/ตันในเดือนม.ค.-เม.ย.67 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ EDC ลดลง และมีแรงหนุนจากอุปสงค์ตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม สเปรด PVC ในเอเชียลดลงมาที่ 350 เหรียญสหรัฐ/ตันตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/67 จนถึงปัจจุบัน เพราะอุปสงค์การนำเข้าจากอินเดียลดลง
ขณะที่สเปรด HDPE (high density polyethylene)-แนฟทา ลดลงต่อเนื่องจาก 290 เหรียญสหรัฐ/ตันเดือน พ.ค. 67 เป็น 260 เหรียญสหรัฐ/ตันเดือนก.ย.67 แม้ต้นทุนแนฟทาจะสูงขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ของ HDPE เกรดสำหรับการผลิตท่อที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ได้เพิ่มมากนักหลังประกาศมาตรการในเดือนพ.ค.67
ส่วนสเปรด LDPE (Low density PE) เพิ่มขึ้น 13% จากเดือนพ.ค. 67 ผลจากการหยุดซ่อมบำรุงนอกแผนของโรงงานหลายแห่งในจีน, อินเดียและซาอุดิอาระเบีย รวมถึงอุปสงค์ตามฤดูกาลของฟิล์มเพื่อการเกษตร
ขณะเดียวกัน สเปรด PET (Polyethylene terephthalic) เพิ่มก้าวกระโดดจาก 60-70 เหรียญสหรัฐ/ตันเดือนพ.ค.-ส.ค. 67 เป็น 90 เหรียญสหรัฐ/ตันเดือนก.ย.67 จากการที่โรงงานหลายแห่งในจีนหยุดการผลิตนอกแผน จึงหักลบกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ฝ่ายวิเคราะห์ฯมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลดีเล็กน้อย
ผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มปิโตรเคมียังมีอุปทานล้นตลาด ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ประมาณการว่ากำลังการผลิต PVC ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2.2-3.4% yoy, HDPE เพิ่มขึ้น 1.4-6.5% และ PET เพิ่มขึ้น 2.8-4.6% yoy ในปี 68-69 แต่เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจึงต้องแข็งแกร่งพอที่จะเปลี่ยนทิศทางอุปสงค์ของผู้บริโภคที่กำลังอ่อนตัว ซึ่งมองว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ในขณะนี้
นอกจากนี้ แม้ว่า Bloomberg อาจปรับเพิ่มประมาณการ EPS ในปี 68 ของ PTTGC และ IVL เพื่อสะท้อนค่าเสื่อมราคาที่ลดลงหลังบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าปี 67 ราว 2 หมื่นล้านบาท และ 1.7 หมื่นล้านบาทตามลำดับ แต่ไม่มั่นใจว่าจะส่งผลให้มีการปรับ core EBITDA จากสเปรดเคมีภัณฑ์ที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน EPS ของ SCC และ IRPC ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสเปรด PE/PP ที่อ่อนตัว อีกทั้งการแข็งค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอาจกระทบกำไรของผู้ประกอบการกลุ่มปิโตรเคมีของไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)
Tags: CGSI, ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล, หุ้นไทย, เศรษฐกิจจีน