ตามที่พรรคประชาชน (ปชน.) ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในหลายแพ็กเกจสำคัญ คู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลว่า หากรอการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอาศัยเวลา 1-2 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะไม่ทันบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป จึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ล่าสุด นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษก ปชน. ยืนยันว่า การแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่ได้เป็นการแก้เพื่อตัวเองหรือเป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้มาตรฐานจริยธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง กระทบต่อทั้งเสถียรภาพและความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของระบบการเมือง และส่งผลโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ถึงแม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ณ เวลานี้
ดังนั้น หากพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชนพร้อมจะ “พัก” การผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่พรรคประชาชนยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคฯ ได้นำเสนอแนวคิดและประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามาโดยตลอด โดยแบ่งชุดประเด็นออกเป็น 7 แพ็กเกจ ได้แก่
A-ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ที่เสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. ทลายเกราะคุ้มกันคำสั่งประกาศ คสช. และเติมพลังต้านรัฐประหาร
B-ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่เสนอยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงประชาชนโดยแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง
C-เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริตเสนอป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาล และ ป.ป.ช. เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมือง เปิดเผยข้อมูลรัฐ คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
D-คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเสนอวิธีการศึกษาเรียน 15 ปี สิทธิมนุษยชน-สิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออกและเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเสรีภาพ
E-ปฏิรูปกองทัพ เสนอยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ปรับขอบเขตอำนาตศาลทหาร
F-ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา ยกระดับกลไกกรรมาธิการ ปรับนิยามฝ่ายค้าน เพิ่มอำนาจสภาฯ ในการพิจารณาร่างการเงิน
G-ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ได้
โฆษกพรรค ปชน. กล่าวว่า พรรคฯ นำเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบ และได้เตรียมการไว้เป็น 7 ชุดประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้พรรคฯ เข้าใจดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น (เช่น ระบบเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา หรือมาตรฐานทางจริยธรรม) ย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง ดังนั้นในฐานะนักการเมือง พรรคฯ ยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกประเด็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบระบบการเมืองในภาพรวมที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)
Tags: พรรคประชาชน, พริษฐ์ วัชรสินธุ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ