บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อประสบปัญหาด้านความสามารถในการทำกำไร โดยบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองได้รับผลกระทบมากที่สุด มีกำไรลดลงถึง 93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมาด้วยกลุ่มบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่กำไรลดลง 71% และกลุ่มบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่กำไรลดลง 48%
สาเหตุหลักมาจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มรถจักรยานยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามด้วยรถยนต์มือสองและรถบรรทุกตามลำดับ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตก็เพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองหนี้เสียและการขาดทุนจากการขายรถยึด อันเนื่องมาจากราคารถมือสองที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มรถบรรทุกและรถยนต์ ทั้งนี้ กลุ่มรถยนต์มือสองมีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านเครดิตมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มรถบรรทุกและรถจักรยานยนต์ตามลำดับ
ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ใน 1H67 อ่อนแอลงมากที่สุดในกลุ่มบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก โดย NPL Ratio เพิ่มจาก 4.09% ณ สิ้นปี 2566 เป็น 5.00% ณ สิ้น 2Q67 กลุ่มบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองมี NPL ratio ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันแต่น้อยกว่า โดยเพิ่มจาก 5.82% เป็น 6.07% ในช่วงเวลาเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม NPL Ratio ของบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ลดลงจาก 4.08% เป็น 3.61% เนื่องจากการตัดหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อลดลง หากคุณภาพหนี้ยังอ่อนแอ ผู้ประกอบการบางรายอาจเผชิญความเสี่ยงที่จะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่สูงขึ้น ทั้งจากการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น
*สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์: เพดานดอกเบี้ยกดดันกำไรและชะลอการแข่งขัน
ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันประกอบด้วยผู้ให้บริการหลากหลาย ได้แก่ บริษัทที่เป็นนอนแบงก์ที่ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ.ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 (SCAP), บมจ.ฐิติกร (TK), บมจ.น็คซ์ แคปปิตอล (NCAP), บมจ.เอส 11 กรุ๊ป (S11) บริษัทในเครือธนาคาร บริษัทขนาดเล็กที่อยู่นอกตลาด และ ดีลเลอร์รถจักรยานยนต์ท้องถิ่นที่มีให้บริการสินเชื่อ
ธุรกิจนี้เผชิญการแข่งขันรุนแรงตั้งแต่ปี 2564 เมื่อผู้เล่นรายใหญ่เข้าสู่ตลาด นำไปสู่การแย่งชิงพนักงานและฐานดีลเลอร์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เปลี่ยนแปลงในปี 2566 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 23% ลดลงจากค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่อยู่ระดับกว่า 30% ประกอบกับหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงอย่างมาก
การแข่งขันเริ่มลดลงตั้งแต่กลางปี 2566 สะท้อนจากการชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่และการปรับลดค่าคอมมิชชั่น ทริสเรทติ้งคาดว่าการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จะลดลง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของธุรกิจที่ลดลงอาจจะไม่ครอบคลุมความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงของกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่มีความเปราะบาง
*สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์: การแข่งขันจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กดดันราคารถมือสอง
ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยประกอบไปด้วยผู้ให้บริการ 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือบริษัทลูกของผู้ผลิตรถยนต์ หรือที่เรียกว่า Captive Finance ซึ่งให้สินเชื่อรถใหม่ของบริษัทแม่เท่านั้น กลุ่มที่สองคือธนาคารและบริษัทลูกของธนาคาร ที่ให้บริการสินเชื่อทั้งรถใหม่และรถมือสอง ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือบริษัทที่เป็นนอนแบงก์ขนาดเล็กเน้นสินเชื่อรถมือสองและรถสาธารณะ ซึ่งรวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง บมจ.ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง (ECL), บมจ.ไมด้า ลิสซิ่ง (ML), บมจ.มิตรสิบ ลิสซิ่ง (MITSIB)
อุตสาหกรรมนี้ได้ผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายระหว่างปี 2563-2566 โดยเริ่มจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมามีการฟื้นตัวในปี 2565 แต่การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการแข่งขันในอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ การแข่งขันด้านราคาระหว่างรถ EV และรถยนต์สันดาป ประกอบกับมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์สันดาปและการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวลงในปี 2566 ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอยังส่งผลให้เกิดหนี้เสียและการยึดรถจำนวนมาก ราคารถยนต์สันดาปมือสองลดลงกว่า 20%-30% ทำให้มูลค่าหลักประกันลดลง ส่งผลให้หลายบริษัทประสบผลขาดทุนจากการตั้งสำรองและการจำหน่ายรถยึด
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าในระยะปานกลาง การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังคงชะลอตัว ผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องความผันผวนของราคารถและความสามารถในการผ่อนจ่ายค่างวดของลูกค้า กดดันผลกำไรของบริษัท ทำให้การปล่อยสินเชื่อและการเติบโตของสินเชื่อรถยนต์ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว
*สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก: หนี้เสียพุ่ง ปริมาณรถยึดล้นตลาดกดดันราคารถมือสอง
ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกในปัจจุบันมีการแข่งขันระหว่างบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ บมจ.ราชธานี ลิสซิ่ง (THANI), บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK), บมจ.มโครลิสซิ่ง (MICRO) และธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะสั้นถึงปานกลาง จะไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องการเงินทุนสูงจากมูลค่ารถบรรทุกต่อคันที่สูง และต้องมีขนาดพอร์ตโฟลิโอใหญ่เพื่อกระจายความเสี่ยง
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ประกอบกับภาคก่อสร้างที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มเช่าซื้อรถบรรทุก นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียและการยึดรถ ทำให้อุปทานรถบรรทุกมือสองเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์ลดลง ส่งผลให้ราคารถบรรทุกมือสองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมผลประกอบการของบริษัท ด้วยสภาวะตลาดที่ท้าทายนี้ ผู้ประกอบการต่างหันมาเน้นคุณภาพสินเชื่อ โดยคัดกรองลูกหนี้อย่างเข้มงวด ส่งผลให้การแข่งขันชะลอตัวลง
ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อยานพาหนะทุกประเภทโดยรวมลดลงจาก 2 ปีที่ผ่านมา และน่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องด้วยหลายสาเหตุ แต่ที่เห็นได้ชัดคือการที่บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อให้ความสำคัญกับการรักษาระดับคุณภาพของสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตและประคองความสามารถในการทำกำไรมากกว่าการเติบโต
ณ สิ้นไตรมาส 2/67 สินเชื่อเช่าซื้อรวม คงค้างของบริษัทจดทะเบียนที่เน้นการปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ปรับตัวลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ขณะที่สินเชื่อรวมคงค้างของกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อยู่ที่ระดับ 5.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.0% เป็นผลจากความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อจากคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลง สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เน้นสินเชื่อรถยนต์มือสองและรถยนต์สาธารณะมีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 10.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.4% โดยเติบโตในตลาดเฉพาะกลุ่มของแต่ละบริษัท
*แนวโน้มใน 12 เดือนข้างหน้า: เติบโตอย่างระมัดระวัง
ทริสเรทติ้งมองว่าการเติบโตของธุรกิจเช่าซื้อยังคงชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและหนี้ครัวเรือนที่สูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ การแข่งขันคาดว่าจะยังไม่รุนแรงแต่ยังมีการแย่งชิงกลุ่มลูกค้าคุณภาพดีที่มีอยู่จำกัด ซึ่งทำให้การเพิ่มอัตราผลตอบแทนเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นทำได้อย่างจำกัด นอกจากนี้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อจะยังคงอยู่ในระดับสูง
ในส่วนคุณภาพสินเชื่อ ทริสเรทติ้ง คาดว่า จะยังคงอ่อนแอเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการขาดปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี 2567 และแม้มาตรการช่วยเหลือหรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะออกมาในช่วงไตรมาสที่ 4 อาจช่วยชะลอการถดถอยต่อเนื่องของคุณภาพสินเชื่อได้บ้าง แต่การฟื้นตัวน่าจะเห็นได้ชัดเจนในปี 2568 หนี้เสียที่ยังเป็นปัญหาจะทำให้จำนวนรถยึดและการขาดทุนจากการขายรถยึดยังอยู่ในระดับสูง โดยราคารถมือสองจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่สูงและแนวโน้ม NPL รวมถึงหนี้จัดชั้นพิเศษ (Special Mention) ที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลงในระยะสั้น นอกจากนี้ ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับลดลงจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาประมูลของรถมือสอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทใน 12 เดือนข้างหน้า
ขณะที่รายได้และกำไร คาดว่าจะอ่อนตัวลงในช่วงที่เหลือของปี 2567 จากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากการกู้ยืมเพื่อชำระคืนหนี้เดิมที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า การชะลอตัวของรายได้เนื่องจากการออกกฎระเบียบของ สคบ. และการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่ยังสูง รวมทั้งความผันผวนของราคารถมือสองและรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการที่ชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2568 เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ เป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)
Tags: ทริสเรทติ้ง, ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์