ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร TU ที่ A+ตอกย้ำสถานะทางการเงิน-การตลาดแข็งแกร่ง

บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ได้รับการประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน จาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ไว้ที่ระดับ “A+” ต่อเนื่อง พร้อมคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ “A-” แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” เนื่องจากมีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ อุตสาหกรรมส่วนประกอบอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ประเด็นสำคัญที่ทริสเรทติ้งนำมาใช้ในการกำหนดอันดับเครดิตของไทยยูเนี่ยน มาจากผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัว ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ของยอดขายสินค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และอาหารทะเลแปรรูป ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 6.9 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 รวมถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น ต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ตลอดจนต้นทุนวัตถุดิบในธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง

รวมถึง การมีอัตรากำไรที่ดีขึ้นจากการลดสัดส่วนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งที่มีอัตรากำไรต่ำในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ EBITDA ในครึ่งแรกของปีอยู่ที่ระดับ 6.2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ EBITDA Margin อยู่ที่ระดับ 9.1% เพิ่มจาก 8.8% ในปี 2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าไทยยูเนี่ยนจะรักษาการเติบโตของรายได้และกำไรที่ดีเอาไว้ได้ จากปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของการเพิ่มกำลังการผลิต การขยายตลาด และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จะทำให้รายได้ของไทยยูเนี่ยนอยู่ที่ 1.4-1.46 แสนล้านบาทในช่วงปี 2567-2569 โดย EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ EBITDA Margin น่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 9%

เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากสัดส่วนรายได้กลุ่มสินค้านวัตกรรมซึ่งมีอัตรากำไรสูงเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและแผนการลดต้นทุนของบริษัท รวมถึงการที่ไทยยูเนี่ยนมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ใน 15 ประเทศ ครอบคลุม 4 ทวีป นับเป็นกลยุทธ์สร้างความหลากหลายในเชิงภูมิศาสตร์ ทั้งในด้านฐานการผลิต การตลาดตลาด และกระจายรายได้ เพื่อช่วยลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัททั้งจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้า และกฎเกณฑ์ในอุตสาหกรรมการจับปลาทั่วโลก

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังได้ประเมินสภาพคล่องของไทยยูเนี่ยนไว้ว่ามีเพียงพอโดยมีกำหนดการชำระหนี้ระยะยาววงเงิน 9,500 ล้านบาทในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2567 บริษัทฯ จะมีเงินทุนจากการดำเนินงานราว 8,000 ล้านบาท รวมถึง เงินสด เงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้น และยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top