ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในรายงาน Asian Development Outlook ฉบับเดือนกันยายน 2567 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2567 จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดินเมษายนที่ร้อยละ 2.6 และมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 ลงจากร้อยละ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอลงระยะในระยะถัดไปจากภาวะการเงินที่ตึงตัวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคและการลงทุนภาครัฐและเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กำลังจะออกมานั้นคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในระยะสั้น
ADB ชี้ว่ายังคงมีหลายปัจจัยที่ยังคงจะต้องติดตามในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง หนี้ SME โดยเฉพาะธุรกิจที่เปราะบาง ปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแผนการลงทุนของภาครัฐ ในส่วนของเสถียรภาพทางด้านราคานนั้น ADB คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% ในปีนี้และ 1.3% ในปีหน้า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวได้ช้า และภาครัฐยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน
ทั้งนี้ ADB ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก โดยคาดว่าภูมิภาคจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ในปีนี้ เมื่อเทียบกับคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ร้อยละ 4.9 และยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้าไว้ที่ร้อยละ 4.9 เช่นเดิม สำหรับอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกในปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 3.2
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)
Tags: ADB, GDP, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย