In Focus: ส่อง 3 ตัวเต็งชิงเก้าอี้ผู้นำญี่ปุ่น รอลุ้นอาจได้นายกฯ หญิงคนแรก

ญี่ปุ่นจะจัดประชุมสภานิติบัญญัตินัดพิเศษในวันที่ 1 ต.ค. นี้ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ซึ่งเตรียมลาออกในเดือนนี้ และไม่ได้ลงสมัครเพื่อรักษาตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ท่ามกลางกระแสความนิยมที่ตกต่ำลงและแรงกดดันจากข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตภายในพรรค

ทั้งนี้ ภายใต้ระบบรัฐสภาของญี่ปุ่น หัวหน้าพรรค LDP คนใหม่จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นโดยอัตโนมัติ เมื่อเขาหรือเธอได้รับการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติที่มีพรรค LDP ครองเสียงข้างมาก

สำหรับการเลือกหัวหน้าพรรค LDP คนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ซึ่งมีผู้ลงชิงชัยจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ถึง 9 คน อย่างไรก็ดี สนามแข่งขันในตอนนี้ได้หดแคบลงเหลือแค่ตัวเต็งเพียง 3 คนเท่านั้น ได้แก่ ซานาเอะ ทาคาอิจิ (Sanae Takaichi) นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมซึ่งอ้างตนว่าเป็นผู้สืบทอดแนวทางเศรษฐกิจแบบ “อาเบะโนมิกส์” ชินจิโร โคอิซูมิ (Shinjiro Koizumi) ทายาทตระกูลนักการเมือง คนหนุ่มรุ่นใหม่ รูปลักษณ์ดี แต่ยังขาดประสบการณ์ และ ชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นักการเมืองความคิดอิสระซึ่งลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นครั้งที่ 5 แล้ว และจะเป็นครั้งสุดท้าย

ผลสำรวจจากสำนักข่าวเกียวโดแสดงให้เห็นว่า ทาคาอิจิ รัฐมนตรีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วัย 63 ปี ถูกมองว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปของญี่ปุ่น โดยมีผู้สนับสนุนจากพรรค LDP ราว 27.7% ขณะที่อิชิบะ วัย 67 ปี ได้รับเสียงสนับสนุน 23.7% และโคอิซูมิ วัย 43 ปี ได้รับเสียงสนับสนุน 19.1% ซึ่งหากการลงคะแนนเสียงรอบแรกไม่มีผู้ใดได้คะแนนชี้ขาด ก็จะมีการลงคะแนนรอบสองต่อไป ซึ่งจะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก

ตัวเต็งทั้งสามนั้นไม่ว่าใครชนะก็จะถือเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองญี่ปุ่น โดยหากทาคาอิจิได้รับเลือก เธอก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของญี่ปุ่น ส่วนโคอิซูมิ ซึ่งมีอายุเพียง 43 ปี ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมทั้งยังเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ขณะที่หากอิชิบะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็จะเป็นการแสดงถึงการยอมรับผู้สมัครที่ถูกมองมาตลอดว่าเป็นคนนอกของกลุ่มการเมืองกระแสหลักในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครตัวเต็ง 3 รายนี้ต่างก็มีจุดอ่อนที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เป็นความเสี่ยงต่อการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น

นโยบายต่างประเทศแบบอนุรักษ์นิยมสายแข็ง

เริ่มกันที่ ทาคาอิจิ รัฐมนตรีความมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งยึดถือนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตามแนวทาง “อาเบะโนมิกส์” และเธอยังสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่เข้มงวด ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่หลวงที่สุดของเธอ

ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในสมัยของนายกฯ คิชิดะนั้น อาจได้รับผลกระทบหากทาคาอิจิขึ้นเป็นนายกฯ ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนก็อาจย่ำแย่ลงไปอีก จากที่ไม่สู้ดีอยู่แล้วในช่วงเวลานี้ที่ความตึงเครียดระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุฆาตกรรมเด็กชายชาวญี่ปุ่นในจีน และการที่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า ถ้าทาคาอิจิได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เธอจะสนับสนุนธรรมเนียมการสักการะศาลเจ้ายาซุกุนิในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่รำลึกถึงชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม รวมถึงผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในฐานะอาชญากรสงคราม ทั้งนี้ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนล่าสุดที่เดินทางไปสักการะศาลเจ้าแห่งนี้เมื่อเดือนธ.ค. 2556 ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการทูตตามมา โดยญี่ปุ่นถูกจีนคว่ำบาตร และถูกตำหนิโดยสหรัฐฯ

โดยทาคาอิจิได้เคยให้คำมั่นว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ญี่ปุ่นสามารถแสดงความเคารพต่อผู้ที่เสียชีวิตเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นการอ้างอิงที่แฝงนัยถึงการไปแสดงความเคารพต่อศาลเจ้ายาซุกุนินั่นเอง

ทายาทการเมืองผู้อ่อนประสบการณ์

ชินจิโร โคอิซูมิ ก็เคยเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาซุกุนิในกรุงโตเกียวอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับบิดาของเขา จุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) อดีตนายกรัฐมนตรีที่เดินทางไปสักการะศาลดังกล่าวเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ดี โคอิซูมิคนลูกซึ่งเป็นตัวเต็งนายกฯ คนใหม่ยังไม่ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า เขาจะสืบทอดประเพณีดังกล่าวต่อไปหรือไม่ แม้ว่าในปีหน้าจะเป็นวันครบรอบ 80 ปีของการสิ้นสุดสงครามก็ตาม

โคอิซูมิ ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ถูกมองว่ามีข้อด้อยในเรื่องของการขาดประสบการณ์ทางการเมือง

ในการหาเสียงนั้น โคอิซูมิเรียกร้องให้มีการปฏิรูปแรงงานเพื่อลดความยุ่งยากในการไล่พนักงานออก แต่กลับทำให้คู่แข่งนำเรื่องนี้มาโจมตีว่าเขาอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ โคอิซูมิยังสูญคะแนนนิยมจำนวนมากจากข่าวลือที่แพร่สะพัดทางออนไลน์ว่า เขาต้องการเพิ่มอายุเกษียณของชาวญี่ปุ่น

ยิ่งไปกว่านั้น โคอิซูมิยังแทบไม่มีประสบการณ์ในด้านนโยบายต่างประเทศเลย ขณะที่สหรัฐฯ อาจจะกลับมาดำเนินนโยบายต่อต้านญี่ปุ่นเหมือนในช่วงทศวรรษ 1980 อีกครั้ง หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้

นักการเมืองผู้ได้รับความนิยม แต่มีความคิดสวนกระแส

หากโดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เขาอาจจะเข้าใจกับคำพูดของ ชิเงรุ อิชิบะ เกี่ยวกับการปรับสมดุลความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เพราะทรัมป์คุ้นเคยกับการทำงานในเชิงธุรกิจ แต่สำหรับคนอื่น ๆ ในทำเนียบขาวนั้น อาจจะไม่เข้าใจกับความคิดดังกล่าวของอิชิบะ ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในแผนการของสหรัฐฯ ที่จะควบคุมอิทธิพลของจีน

อิชิบะเป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงกลาโหม แต่การที่เขาพูดถึงการทบทวนข้อตกลงสถานะกองกำลัง (Status of Forces Agreement) เพื่อทำให้ญี่ปุ่นมีสถานะเท่าเทียมกับผู้รับประกันความมั่นคง รวมถึงการสร้าง “นาโตเอเชีย” (Asian NATO) ก็ทำให้สหรัฐฯ เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่นรายนี้

นอกจากนี้ การพูดถึงอันตรายที่ญี่ปุ่นจะเผชิญจากการรุกรานของจีนต่อไต้หวัน รวมถึงความคิดเห็นที่ว่า ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องจำกัดความสัมพันธ์อยู่เพียงแค่กับสหรัฐอเมริกา หรือการมีความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นนั้น อาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่มองว่า ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย

ส่วนแนวทางด้านเศรษฐกิจของอิชิบะก็สร้างความสับสนเช่นกัน เพราะเขาตั้งเป้าหมายอันดับแรกที่จะยุติภาวะเงินฝืด ขณะเดียวกันเขากลับเรียกร้องให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ

แพ้หรือชนะ หนีไม่พ้นนโยบายด้านเศรษฐกิจ

ผู้สมัครทั้ง 3 คนนี้แสดงแนวคิดด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยนักการเมืองสายเสรีนิยมอย่างโคอิซูมิ มองการเติบโตที่เกิดจากการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง ขณะที่ทาคาอิจิสนับสนุนการใช้จ่ายและการกลับไปใช้นโยบายแบบผ่อนคลาย ส่วนอิชิบะมีความระมัดระวังในด้านการเงินและการคลัง แต่แผนการของพวกเขาก็ยังขาดแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่น

และแม้ว่ายังมีอีกหลากหลายประเด็นหาเสียงที่อยู่ในความสนใจของคนญี่ปุ่น เช่น การอนุญาตให้คู่สมรสใช้นามสกุลต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่จะมาตัดสินใจว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ก็คงจะขึ้นอยู่กับการจัดการด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก

ทั้งทาคาอิจิ โคอิซูมิ และอิชิบะ ต่างถูกคาดหมายว่าจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่พรรค LDP และประเทศญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top