รมว.คลัง หวังจับเข่าคุยแบงก์ชาติสอดประสานนโยบายการคลัง-การเงิน ฝ่าปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการนัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้าว่า ในภาพใหญ่เรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญกับทุกคนที่ต้องการใช้เงินลงทุน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) ถือว่าแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน

เงินบาทแข็งค่าเกิดจากปัจจัยจากภายนอก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.50% และส่งสัญญาณจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งจากการที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยก็ถือเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมาย และทุกประเทศในกลุ่มนี้ ก็เผชิญกับปัญหาค่าเงินแข็งค่าเช่นกัน

แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่น โดยเฉพาะประเทศคู่ค้า เช่น เงินหยวนของจีน เงินดองของเวียดนาม หรือเงินเยนของญี่ปุ่น เป็นต้น ปรากฎว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก เพราะเกิดความเสียเปรียบ

อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ว่าแม้เงินเฟ้อขณะนี้จะอยู่ระดับต่ำ แต่เชื่อว่ามีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นไปตามที่ ธปท.คาดไว้ เพราะผ่านไป 8 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.15% โดยประมาณ และคาดเดาได้ว่าเงินเฟ้อคงจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป และหลุดกรอบล่าง ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3%

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย เรากำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ 1-3% แต่อยากเห็นใกล้ ๆ 2% เมื่อขณะนี้หลุดกรอบข้างล่าง ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องมาตกลงกันแล้ว ว่ากรอบเงินเฟ้อควรเป็นอย่างไร เพราะเมื่อกำหนดกรอบไว้ 1-3% แต่ข้อเท็จจริง เงินเฟ้อยังไม่ถึงกรอบล่างเลย

“ถ้ากำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ระดับหนึ่งที่ 1-3% แล้วไม่สูง แสดงว่าเศรษฐกิจมันไม่ขึ้น ก็ต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยเราสูงเกินไปหรือไม่ วันนี้ผมคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาดูแล้ว ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้คนเกิดความมั่นใจในฟากของผู้ผลิตมากขึ้น” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ไทยควรจะเป็น ซึ่งส่งผลกระทบในหลายด้าน คือ เป็นหนี้ครัวเรือน หนี้ SME และหนี้สาธารณะสูงขึ้น ซึ่งในส่วนของรัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในตลาดโลกได้ โดยนำเม็ดเงินจากการจัดเก็ยภาษีมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสัมพันธ์กับนโยบายทางการเงิน

ตัวที่สำคัญที่สุด คือ ดอกเบี้ยนโยบาย เพราะนโยบายของรัฐบาลเดินไปทิศทางที่ให้เศรษฐกิจเติบโต แต่หากดอกเบี้ยสูง ก็จะสวนทางกัน จึงควรพิจารณาให้ดอกเบี้ยต่ำหรือไม่ แต่ถ้ากลัวว่าดอกเบี้ยต่ำแล้วคนจะใช้จ่ายเงินมาก และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงนั้น ในปัจจุบันก็เห็นชัดแล้วว่า อัตราเงินเฟ้อเราอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยในช่วงเกือบ 8 ปีนี้หลุดกรอบล่างไปแล้วถึง 6 ครั้ง

“อยากจะเชิญชวนให้นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง มาทำงานร่วมกันให้สอดประสานกัน อันหนึ่งดันเศรษฐกิจให้ขึ้น อันหนึ่งก็กลัวเศรษฐกิจมีปัญหา ผมมาดูสถาบันการเงินแล้ว วันนี้สถาบันการเงินเข้มแข็ง ระบบธนาคารเราเข้มแข็ง จึงอยากเชิญชวนมานั่งคุยกันว่ามองเห็นข้อมูลเดียวกัน และทำงานร่วมกันในนโยบายการเงินสอดคล้องนโยบายการคลัง และเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลอยากจะผลักดันตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ผมว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมด วันนี้ได้เวลาที่จะคุยเรื่องกรอบเงินเฟ้อ นำไปซึ่งแนวทางดอกเบี้ยนโยบาย และนำไปซึ่งการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพราะทั้งหมดจะประสานกันหมด ดีที่สุดจับมือกัน ร่วมมือกันนโยบายการเงินนโยบายการคลัง เพื่อทำให้ประเทศไทยฟันฝ่าเศรษฐกิจที่เรื้อรังมายาวนาน” นายพิชัย กล่าว

ขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า พื้นฐานที่จะดูว่านโยบายทางการเงิน หรือดอกเบี้ยนโยบายเหมาะสมหรือไม่ เราดูจาก

1.เรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ในกรอบ และยังไม่เข้าสู่กรอบเงินเฟ้อที่คาดหวัง และไม่มีแนวโน้มว่าจะเดินเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อในระยะเวลาอันใกล้นี้

2.อัตราแลกเปลี่ยน วันหนึ่งค่าเงินบาทขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ อีกวันหนึ่งลงมา 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เกิดช่องว่างถึง 10% เราอยู่ไหวกับสถานการณ์แบบนี้หรือไม่ และเงินบาทอยู่ในเกณฑ์แข็งค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

3.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลจึงต้องเหยียบคันเร่งเพิ่มด้วยการใส่เงินไปในระบบแสนกว่าล้านบาท และเราคาดหวังว่านโยบายการเงินจะไปในทิศทางเดียวกัน

4.ทิศทางนโยบายการเงินในประเทศต่าง ๆ ในโลก เคลื่อนที่ไปในทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะฉะนั้นนโยบายการเงินของประเทศไทย ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายของประเทศคู่ค้า

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top