วันนี้คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดเผยรายชื่อกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธูรกิจ Virtual Bank โดย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ในบรรดากลุ่มที่ยื่นขอใบอนุญาต virtual bank ในประเทศไทย เราคาดว่า KTB, CP Group และBBL น่าจะได้ใบอนุญาต ในขณะที่ SCB และ Lightnet Group น่าจะต้องแข่งขันกัน
นอกจากนี้ เรายังมองว่า virtual bank จะส่งผลดีกับ KTB และ BBL แต่อาจจะไม่ส่งผลดีกับ SCB ซึ่งเมื่อศึกษาจากบทเรียนของ virtual bank ในต่างประเทศ เราพบว่าในช่วงแรกที่เริ่มเปิดดำเนินการ ผู้เล่นรายใหม่จะพยายามเข้ามาแทรกแซงกลยุทธ์ทางด้านของการระดมเงินฝาก และรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม
ตามกรอบเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาต virtual bank ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามี 5 กลุ่มที่รวมตัวกันยื่นขอใบอนุญาต ได้แก่ 1.) กลุ่ม KTB (ประกอบด้วย KTB AIS GULF PTTOR) 2.) CP 3.) SCB 4.) BBL VGI Group และ กลุ่มบริษัทในประเทศ (Saha Patanapibul) และ 5.) Lightnet Group และ WeLap
ทั้งนี้ ตามแนวทางที่ ธปท. เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ ธปท. มีการต้องการเห็นผู้ประกอบการแบงก์รายใหม่ที่เน้นการทำธุรกิจบนระบบฐานข้อมูลที่เปิด และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (financial inclusion) โดย ธปท.จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นเมื่อ virtual bank ได้ใบอนุญาตจะต้องเปิดดำเนินงานในช่วงทดลอง (trial period) เป็นเวลา 3-5 ปี โดยต้องมีเงินทุนชำระแล้วเริ่มต้น 5 พันล้านบาท จากนั้นต้องเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาทหลังผ่านช่วงทดลองไปแล้ว
เรามองว่าในห้ากลุ่มที่ยื่นขอใบอนุญาต KTB CP และ BBL น่าจะได้ใบอนุญาต ในขณะที่ SCB และ Lightnet Group น่าจะต้องแข่งขันกัน ซึ่งในสามธนาคารใหญ่ที่ยื่นขอใบอนุญาต (KTB BBL SCB) เราคิดว่า virtual bank จะส่งผลดีกับ KTB และ BBL แต่อาจจะไม่ส่งผลดีกับ SCB ถ้าธนาคารนำ virtual bank ไปใช้ให้บริการด้านการธนาคารสำหรับรายย่อย เพราะถือว่าทับซ้อนกันกับหย่วยงานที่มีอยู่
ส่วนกรณีของ BBL เนื่องจากธุรกิจรายย่อยของธนาคารมีสัดส่วนต่ำ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่ <15% การเข้ามาของ BBL ยังมีโอกาสจะขยายฐานลูกค้ารายย่อยได้จากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของพันธมิตรในกลุ่ม
ในขณะเดียวกัน KTB และพันธมิตรมีแนวโน้มจะได้อานิสงส์มากที่สุดในแง่ของการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) จาก ADVANC และ OR ส่วนที่นอกระบบธนาคาร การปรับปรุงยอดเก็บเงินสด และ คุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงการขยายสินเชื่อเพิ่มในอนาคตด้วย
เคจีไอฯ ระบุว่า สำหรับกรณีของสิงคโปร์ ธนาคารกลางออกใบอนุญาต virtual bank จำนวน 5 ใบเมื่อปี 62 ส่วนมาเลเซียออก 6 ใบอนุญาตเมื่อปี 65 ผู้เล่นหลักในสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นกลุ่มเดียวกัน คือ “Grab และ Singtel” ส่วนผู้เล่นรายอื่น ๆ มาจาก fintech startup ในประเทศ ขณะที่ virtual bank ในอินโดนีเซีย (ใบอนุญาต 9 ใบ) นำโดยธนาคารต่างประเทศ และ fintech startup ในประเทศ ทั้งหมดในทุกประเทศยังไม่มีกิจการไหนที่ทำกำไรได้เลย
อย่างไรก็ตาม vitual bank ในเกาหลีใต้ (ใบอนุญาต 3 ใบ) สามารถทำกำไรได้ภายใน 3 ปีหลังเปิดดำเนินการ โดยเน้นธุรกิจเฉพาะ และ cryptocurrency โดยไม่มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ และขอบเขตของธุรกิจ
จากเปรียบเทียบ virtual bank ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย พบว่า virtual bank ที่เปิดให้บริการอยู่ใช้โมเดลธุรกิจสองแบบ ได้แก่ 1.) แบบเฉพาะทาง (specialized virtual bank) และ 2.) แบบทั่วไป (virtual bank for all) โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งจะมาจาก fintech startup (อย่างเช่นในอินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้) และกลุ่มบริษัท (อย่างเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ไทย)
แต่ไม่ว่าในกรณีใด virtual bank ก็เป็นธุรกิจที่จะมีขาดทุนไปอย่างน้อย 3-5 ปี (ยกเว้นเกาหลีใต้ ซึ่งในกรณีของ Kakao, K Bank, และ Toss Bank สามารถทำกำไรได้ภายใจเวลา <3 ปี เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งเป็นธนาคารเฉพาะทาง (specialized bank)
บล.เคจีไอฯ ยังคงคำแนะนำ Neutral ต่อกลุ่มแบงก์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 67)
Tags: Virtual bank, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารไร้สาขา, ธปท.