“อนุสรณ์”เชียร์ปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ ลดย้ายถิ่น-ดึง GDP สูงขึ้น

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตามนโยบายของรัฐบาลอาจมีความล่าช้าออกไป ยิ่งล่าช้ามากเท่าไหร่ย่อมทำให้ “แรงงาน” ระดับล่างทักษะต่ำแรกเข้าต้องก่อหนี้เพิ่มให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวเพิ่มขึ้น

แรงงานระดับล่างทักษะต่ำส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกในครัวเรือนที่อัตราการพึ่งพิงสูง แรงงานส่วนใหญ่ของไทยเวลานี้เป็น Sandwich Generation เป็นกลุ่มคนที่ต้องดูแลพ่อแม่สูงอายุไม่ได้ทำงานพร้อมกับดูแลลูกด้วยในขณะเดียวกัน แรงงานกลุ่มนี้จะไม่มีเงินออมเลย จะมีแต่หนี้สินเนื่องจากมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้มาก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงเพียงช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจลงได้บ้างเท่านั้น

ต้องอาศัยมาตรการอื่นๆด้วยจึงช่วยแก้ปัญหาได้

ส่วนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศจะช่วยลดการอพยพย้ายถิ่น ต้นทุนของครัวเรือนและสังคมลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้นลดความแออัดและการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจ การจ้างงานในกรุงเทพปริมณฑลและเมืองหลัก โรงงานและการจ้างงานจะกระจายไปยังต่างจังหวัดไกลศูนย์กลางทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของการผลิตและการจ้างงานสูง เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่สูงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข กรุงเทพและปริมณฑลมีการจ้างงานในระบบ 6-7 ล้านคน มีสถานประกอบการในระบบกว่า 239,000 แห่ง มีจีดีพีอยู่ที่ 7.5-7.6 ล้านล้านบาทและมีโอกาสการมีงานทำสูงสุด เป้าหมายทางนโยบายสาธารณะต้องลดการกระจุกตัวและกระจายโอกาสในการจ้างงานไปยังทั่วทุกภูมิภาค

การย้ายแหล่งการผลิตและการจ้างงานไปยังต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จะเกิดผลดีต่อพื้นที่ และ เกิด”ตัวทวีคูณท้องถิ่น” (Local Multiplier) นอกจากนี้ยังลดปัญหาความแออัด ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสลัมในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และ

การแตกสลายของสถาบันครอบครัวในชนบทจากการที่พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม การกระจายการลงทุน กระจายภาคการผลิตและโรงงานไปยังพื้นที่ต่างๆต้องมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติม เนื่องจากการใช้ระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตราเป็นปัจจัยหนึ่งในการดึงดูดให้โรงงานย้ายฐานการผลิตไปยังจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่ำหรือพื้นที่ห่างไกลความเจริญ

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการไตรภาคีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำควรมีความชัดเจนในเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทภายในไตรมาสสี่ หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้ภายในไตรมาสสี่จะส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างใกล้เคียงกับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพมากขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างเป็นการช่วยทำให้จีดีพีเติบโตสูงขึ้นอย่างชัดเจน

สิ่งนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งในสหรัฐอเมริกา จากนโยบายของรัฐบาลโจ ไบเดน ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 4,000 บาทต่อวัน) หรือ เวียดนามปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ หรือจีนปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดหลายปีก่อนเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำหลังการเปิดเสรีเศรษฐกิจเติบโตสูงแต่กระจุกตัว

กรณีของไทย การปรับค่าจ้างจะทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเพราะค่าจ้างเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในรายได้ประชาชาติของประเทศ ค่าจ้างจึงเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของภาคการบริโภคที่จะส่งต่อภาคธุรกิจในที่สุด ค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 39-42% รายได้ประชาชาติ รายได้จากการประกอบการธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 20% รายได้จากทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วน 6% รายได้เกษตรกร 7% หากคณะกรรมการไตรภาคีปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำภายในปีนี้ จะไม่ส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มสูงมากนักยังไม่เห็นสัญญาณใดๆของเงินเฟ้อจากอุปสงค์ภายในร้อนแรง การขึ้นค่าแรงจะทำให้อัตราเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายเท่านั้น

การปรับเพิ่มค่าจ้างยังทำให้เกิดการปรับตัวของภาคการผลิตให้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือ เอไอ มาแทนแรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้น การปรับตัวของภาคธุรกิจจะทำให้ผลิตภาพของทุนและระบบเศรษฐกิจดีขึ้น

ภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่ออัตราการว่างงานเล็กน้อยมากเพราะสังคมไทยเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานทุกระดับทักษะอยู่ ความไม่สมดุลตลาดแรงงานท้าทายภาคการผลิตไทยมากขึ้นตามลำดับ ประชากรในวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% ประชากรในวัยทำงานปัจจุบันอยู่ที่ 42 ล้านคน และ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้บางกิจการ บางอุตสาหกรรมสามารถทำการผลิตต่อไปได้โดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน บางอุตสาหกรรมปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์และเอไอมากขึ้น พึ่งพิงแรงงานมนุษย์ลดลงและผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น จากงานวิจัยของ ธนาคารโลก เรื่อง “Aging and the Labour Market in Thailand พบว่า ภาวะประชากรสูงวัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม

จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศเติบโตลดลงและหากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ต่อหัวลดลงอีกร้อยละ 0.86 ในทศวรรษ 2020 ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ David E. Bloom and Jocelyn E. Finlay พบว่าการเกิดสังคมชราภาพในเอเชียและไทยเป็นผลจากอัตราการเกิดต่ำ กรณีของไทยอัตราการเกิดต่ำทำให้สัดส่วนแรงงานที่อยู่ในวัยหนุ่สาวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนแรงงานในวัยทำงานลดลงในอัตราร้อยละ 0.05 มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 หรือ พ.ศ. 2548 ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 25 ปีข้างหน้าเฉลี่ยปีละ 0.45%

Robert J. Barro and Salai Martin Xavier ใช้ข้อมูล 102 ประเทศทั่วประเทศรวมทั้งไทย พบว่าปัจจัยด้านประชากรส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกระหว่างปี ค.ศ. 1965-2005 ผลของการลดลงของสัดส่วนแรงงานวัยทำงานมีผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าสังคมชราภาพและขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาว มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านช่องทาง 4 ช่องทาง คือช่องทางการออม ช่องทางการลงทุนและสะสมทุน ช่องทางผลิตภาพโดยรวม ช่องทางการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน งานวิจัยของ Yung Chul Park and Kwanho Shin ระบุว่าผลกระทบผ่านช่องทางต่างๆจะชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อประเทศเอเชียรวมทั้งที่เข้าสู่สังคมชราภาพขึ้นอยู่กับโครงสร้างประชากรของแต่ละประเทศ เสนอให้รัฐบาลศึกษาความเป็นไปได้ของการพิจารณานโยบายนิรโทษกรรมในเรื่องการให้สิทธิพลเมืองที่ยืดหยุ่นเพื่อเปลี่ยนสถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมายให้กับแรงงานต่างชาติที่ต้องการเป็น “พลเมือง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ แรงงานทักษะสูงและแรงงานไทใหญ่ที่มีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ จะทำให้บรรดาแรงงานต่างชาติเหล่านี้เป็น”พลังสำคัญทางเศรษฐกิจ” ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ความไม่สมดุลของตลาดแรงงานจะเป็นปัญหาท้าทายภาคการผลิตของไทยต่อไป เศรษฐกิจและภาคการผลิตบางส่วนต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะงานที่ใช้ทักษะต่ำ ขณะที่แรงงานไทยทักษะปานกลางและสูงจำนวนไม่น้อยเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่ามาก ลักษณะการเคลื่อนย้ายแบบนี้ คือ แรงงานทักษะต่ำไหลเข้าแรงงานทักษะปานกลางและสูงจำนวนหนึ่งไหลออก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างตลาดแรงงานระบบค่าจ้าง และบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นระบบเศรษฐกิจการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะสูง และผลิตสินค้ามูลค่าสูงด้วยนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง ยังติดกับดักโครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจแบบเดิม

ส่วนมาตรการรับมือผลกระทบต้นทุนแรงงานต้องมุ่งเป้าไปที่เอสเอ็มอีในกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยรัฐบาลอาจมีมาตรการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตให้หันมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้น มาตรการปรับโครงสร้างราคาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เป็นธรรมมากขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่าความรุ่งเรืองเศรษฐกิจรอบใหม่ขึ้นกับการลงทุนทรัพยากรมนุษย์และการจัดระเบียบระบบเศรษฐกิจและสังคมให้มีการแบ่งปันอย่างเป็นธรรม ส่วนแบ่งจีดีพีที่เคยเป็นค่าจ้างแรงงานมนุษย์จะลดลงอย่างชัดเจนจากการเข้ามาแทนที่ของเอไอและหุ่นยนต์การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ให้ แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และ ระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น และเสริมการทำงานของแรงงานมนุษย์ย่อมทำให้ผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top